มาถึงส่วนสุดท้ายเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานในการรีโนเวทบ้าน คือ ขั้นตอนการรีโนเวทบ้าน โดยจะอ้างอิงจากการก่อสร้างบ้านใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมในทุกส่วนที่เกี่ยวกับการสร้างบ้าน 

โดยการสร้างบ้านจะเริ่มจากโครงสร้างเสาเข็ม ฐานราก ต่อด้วยงานโครงสร้างชั้นหนึ่งและชั้นสองตามลำดับ แล้วจึงติดตั้งหลังคา ก่อผนัง เตรียมงานระบบ จนเมื่องานโครงสร้างเรียบร้อยก็จะเป็นงานตกแต่ง ติดตั้งวัสดุปิดผิว เก็บรายละเอียดงาน จนสุดท้ายช่างจะทำความสะอาดและส่งมอบบ้านให้เจ้าของบ้าน

ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องวางแผนการดำเนินงานมาเป็นอย่างดี เพราะมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย และสำหรับตัวเจ้าของบ้านควรจะเข้าใจข้อมูลเบื้องต้น เพื่อตรวจสอบหน้างานด้วยตัวเองได้ และสื่อสารกับผู้รับเหมาและช่างได้แบบเข้าใจตรงกัน

Asset 11

เตรียมพื้นที่ก่อสร้าง ก่อนเริ่มขั้นตอนการสร้างบ้านต่อไป

ขั้นตอนการสร้างบ้าน

ขั้นตอนแรกที่ต้องทำก่อนรีโนเวทบ้าน คือการเตรียมพื้นที่ โดยทีมช่างหรือผู้รับเหมาจะเริ่มลงพื้นที่หน้างาน เพื่อดำเนินการต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับการรีโนเวทบ้าน เช่น

  • ตรวจสอบระดับดินไม่ให้อยู่ในระดับต่ำเกินไป รวมถึงความแข็งของเนื้อดินเพื่อป้องกันปัญหาดินทรุดภายหลัง
  • ตรวจสอบระยะร่นให้ถูกต้องตามเทศบัญญัติ และกฎหมายควบคุมอาคาร
  • กำหนดจุดเก็บอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงเตรียมที่พักคนงาน
  • ทำการรื้อถอนโครงสร้างเดิมออกเพื่อที่จะรีโนเวทใหม่
Asset 22

งานวางผังอาคาร

ขั้นตอนการสร้างบ้าน

เมื่อเตรียมพื้นที่เรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือเริ่มวางผังแนวอาคาร ซึ่งเป็นการกำหนดตำแหน่งของเสาเข็มโดยอ้างอิงจากแบบก่อสร้าง ในขั้นตอนนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับระยะต่าง ๆ ให้เหมาะสมเนื่องจากที่หน้างานอาจพบอุปสรรคที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

เช่น แนวรากของต้นไม้ใหญ่ แนวเสาเข็มของอาคารเดิม ทำให้ต้องมีการขยับแนวเขาใหม่ โดยผู้รับเหมาจะนำเสนอแนวทางแก้ไขให้ผู้ออกแบบเซ็นชื่อรับรอง เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

Asset 33

การลงเสาเข็ม

ในปัจจุบันนิยมใช้เสาเข็มสองแบบ คือเสาเข็มตอกหรือเสาเข็มเจาะ ซึ่งทั้ง 2 แบบ มีข้อแตกต่างกันดังนี้

  • เสาเข็มตอก เป็นที่นิยมากเพราะมีความซับซ้อนของงานน้อย ราคาถูก ตรวจสอบความแข็งแรงและความสมบูรณ์ได้ง่าย โดยการตอกจะใช้เครื่องจักรที่เรียกกันว่าปั้นจั่น ตอกเสาเข็มลงไปในดิน ให้ได้ระดับความลึกตามกำหนด เหมาะสำหรับพื้นที่ห่างไกลชุมชนหรือสิ่งก่อสร้างข้างเคียง เพราะจะมีเสียงดังรบกวน

  • เสาเข็มเจาะ เป็นเสาเข็มที่ต้องเทคอนกรีตหล่อเสาหน้างาน โดยจะใช้เครื่องจักรเจาะดินลงไปให้ลึกตามแบบ จากนั้นหย่อนแม่แบบลงไป และวางโครงสร้างของเสาเข็ม ก่อนที่จะเทคอนกรีตตาม จากนั้นรอให้คอนกรีตเซตตัว 
    • ข้อดีของเสาเข็มแบบนี้ คือทำงานในพื้นที่จำกัดได้ดี แรงสั่นสะเทือนน้อย เหมาะกับบ้านที่มีทางเข้าแคบๆ หรือมีบ้านข้างเคียง
    • ข้อเสียคือมีราคาที่ค่อนข้างสูง

เมื่อเลือกรูปแบบของเสาเข็มได้แล้ว ทีมช่างจะทำการขุดเจาะตามผังที่วางไว้ โดยทีมงานจะมีการเก็บข้อมูลทางวิศวกรรม ดูกำลังรับน้ำหนักและความลึกของเสาเข็ม ที่สำคัญคือการจะลงเสาเข็มทุกต้นต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยควบคุมและตรวจสอบความแข็งแรงให้ตรงตามหลักวิศวกร เพื่อให้งานสร้างนั้นมีมาตรฐาน

Asset 44

งานฐานรากและโครงสร้างชั้นล่าง

ขั้นตอนการสร้างบ้าน
  • เริ่มจากการเทฐานรากแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก จะก่อสร้างได้ง่าย รวดเร็ว และมีความแข็งแรงในการรับน้ำหนักจากเสาลงสู่พื้นดิน 
  • จากนั้นเริ่ม หล่อคอนกรีต เสาและคานชั้นล่าง ตามลำดับ
  • ต่อมาคือการติดตั้งท่อน้ำยากำจัดปลวก แนะนำเลือกใช้เป็นท่อ PE ที่มีผิวภายในเรียบ ลื่น ทำให้ของเหลวไหลลื่นดี แข็งแรง และยืดหยุ่นสูง
  • เริ่มหล่อคอนกรีต เสาและคานชั้นบน
  • ทำการเทพื้นชั้นบนและชั้นล่าง ตามลำดับ อีกหนึ่งทางเลือกคือพื้นสำเร็จรูปใช้ง่าย เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน
  • ติดตั้งโครงสร้างเหล็ก
Asset 55

งานโครงสร้างชั้นสอง โครงหลังคาและงานสุขาภิบาล

  • งานโครงสร้างชั้นสองจะทำเหมือนกับโครงสร้างชั้นล่าง แต่จะมีงานหล่อชิ้นส่วนตกแต่งเข้ามาเพิ่มเติม เช่น กันสาด ขอบปูน ซึ่งโครงสร้างแต่ละส่วนจะต้องใช้ระยะเวลาบ่มคอนกรีตเช่นเดียวกับโครงสร้างชั้นล่าง ประมาณ 14-28 วัน 
  • จากนั้นจะเริ่มขึ้นโครงหลังคา ซึ่งมีหลายประเภท เช่น โครงหลังคาเหล็ก หรือโครงหลังคาสำเร็จรูป
  • ส่วนของงานวางระบบสุขาภิบาล เช่น บ่อพัก ถังเก็บน้ำใต้ดิน ระบบน้ำทิ้ง ท่อประปา จะเป็นการขุดดินเพื่อวางระบบ และดำเนินการติดตั้งให้เสร็จสมบูรณ์ แนะนำให้เจ้าเพื่อน ๆ ถ่ายรูปและจดบันทึกรายละเอียดตำแหน่ง และระยะของงานระบบไว้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงกรณีที่มีการซ่อมแซมในอนาคต
Asset 66

งานมุงหลังคาและโครงสร้างบันได

  • เมื่อโครงสร้างหลักเสร็จหมดแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการติดตั้งวัสดุมุงหลังคา ซึ่งต้องมุงให้ถูกต้องตามขั้นตอนและมีการเลือกใช้วัสดุที่ดีมากพอเพื่อป้องกันปัญหารั่วซึมภายหลัง
  • ส่วนงานโครงสร้างบันได ทีมก่อสร้างจะเริ่มหล่อโครงสร้างบันไดด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือติดตั้งบันไดเหล็กแบบที่วางไว้ จากนั้นจึงเก็บรายละเอียดงานโครงสร้างส่วนต่าง ๆ
Asset 77

งานก่อผนังฉาบปูน

ขั้นตอนการสร้างบ้าน

ปัจจุบันงานก่อผนังที่ได้รับความนิยมจะเป็นผนังก่ออิฐ ซึ่งมี 2 แบบคือ 

  • ผนังก่ออิฐโชว์แนว เป็นผนังที่มีการก่ออิฐเรียงกันโดยไม่มีการฉาบปูนทับ 
  • ผนังก่ออิฐฉาบปูน เป็นผนังที่ใช้อิฐก่อขึ้นแล้วฉาบทับด้วยปูนเพื่อความเรียบร้อย

การทำผนังก่ออิฐ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะไหน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ตรวจสอบว่าได้มีการเตรียมเหล็กหนวดกุ้งยื่นออกมาจากเสา เพื่อยึดประสานระหว่างเสาและผนังบ้านแล้วหรือยัง เพื่อป้องกันการร้าวของผนัง ตามมุมผนังและรอยต่อผนังที่เป็นวัสดุที่ต่างชนิด ใช้ลวดกรงไก่บุผนังก่อนฉาบปูน เพื่อยึดและป้องกันการแตกร้าว

Asset 88

งานฉาบผนังและติดตั้งฝ้าเพดาน

  • ขั้นตอนนี้ต้องกำหนดความสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดานก่อน จากนั้นช่างฉาบผนังตามขั้นตอนจนเสร็จเรียบร้อย แล้วจึงทำการติดตั้งฝ้าเพดาน หากมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับฝ้าเพดาน เช่น โคมไฟ ที่มีน้ำหนักมาก ควรเสริมโครงคร่าวฝ้าเพดาน หรือยึดแขวนกับโครงสร้างหลักของบ้าน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและปลอดภัย

    และควรมีช่องทางเซอร์วิส ที่ใช้ในการเข้าไปตรวจสอบหรือบำรุงรักษางานระบบต่าง ๆ ส่วนใหญ่ติดตั้งที่บริเวณ ห้องครัวหรือห้องน้ำ

Asset 99

งานวัสดุตกแต่งพื้นผิว ผนัง ประตู-หน้าต่างและงาน Built-in

ในขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความประณีตของช่างอย่างมาก เพราะจะทำให้บ้านออกมาสวยงามและดูเรียบร้อย ซึ่งมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

  • วัสดุตกแต่งผนังและพื้น มีให้เลือกใช้ได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับการออกแบบและความชอบของทุกคนเลย 
    • วัสดุผิวผนัง เช่น ทาสี ปูกระเบื้องเซรามิก ติดวอลล์เปเปอร์ ฯลฯ 
    • วัสดุพื้น เช่น หินขัด กรวดล้าง/ทรายล้าง ปูกระเบื้องเซรามิก ไม้ลามิเนต
  • การติดตั้งไฟส่องสว่าง จะเริ่มในช่วงนี้เพราะช่างได้ทำการติดตั้งฝ้าเพดาน โคมไฟและเดินงานระบบเสร็จแล้ว 
  • ติดตั้งบานประตู – หน้าต่าง เข้ากับวงกบไม้ที่ติดตั้งเอาไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงติดตั้งชุดประตู-หน้าต่างไวนิลหรืออะลูมิเนียมเข้ากับผนังที่เว้นช่องไว้ ซึ่งขอบผนังโดยรอบต้องเรียบสม่ำเสมอ ได้ระดับดิ่ง-ฉาก เพื่อให้ชุดประตู-หน้าต่างติดตั้งได้พอดี ลดความเสี่ยงการรั่วซึม
  • งาน Built-in จะมารวมอยู่ในช่วงนี้ เช่น ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางของ เคาน์เตอร์ครัว

ติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็น สุขภัณฑ์ในห้องน้ำ อุปกรณ์เครื่องครัว เมื่อติดตั้งแล้วควรคลุมด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันฝุ่นละอองและสี ในช่วงของการเก็บงาน

Asset 1010

ทำความสะอาดและตรวจสอบความเรียบร้อย

  • ในขั้นตอนการเก็บงาน ทางทีมช่างจะเก็บรายละเอียดต่าง ๆ เช่น งานทาสี ตรวจสอบงานระบบภายในบ้าน ซึ่งในขั้นตอนเพื่อน ๆ เข้ามาตรวจสอบด้วยตัวเองได้เลย ถ้าเจอข้อผิดพลาด ควรรีบแจ้งให้ผู้รับเหมาทราบ และแก้ไขให้แล้วเสร็จ ก่อนจะส่งมอบงาน 
  • สุดท้ายจะเป็นขั้นตอนการทำความสะอาด และส่งมอบงานให้เจ้าของบ้าน จากนั้นก็ขนย้ายเฟอร์นิเจอร์เข้าอยู่อาศัยได้เลย

เรื่องถัดไป เป็นเรื่องของการเลือกใช้วัสดุในการรีโนเวทบ้าน จะมีวัสดุอะไรบ้าง ดูได้ที่ลิงค์นี้เลย

สำหรับใครที่มองหา “ความรู้พื้นฐานในการรีโนเวทบ้าน” เรื่องอื่น ๆ ตามอ่านต่อตรงนี้ได้เลยยยย