ถ้าพูดถึงการออกแบบบ้าน หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่อย่างและไกลตัว แต่จะดีแค่ไหนถ้าเราออกแบบบ้านขั้นพื้นฐานได้ด้วยตัวเอง อาจจะไม่สมบูรณ์แบบจนนำไปสร้างจริงได้ แต่ก็เป็นการส่งต่อไอเดียของเราให้นักออกแบบหรือสถาปนิกทำงานได้อย่างรวดเร็ว และเข้าใจความต้องการของเราได้ดีขึ้นด้วย

วันนี้ LifeSara จะมาแนะนำแนวคิดในการออกแบบห้องต่าง ๆ ในบ้าน จะมีห้องไหนบ้าง ไปดูกันเลยยย

Asset 11

กำหนดโซนในบ้านพร้อมกำหนดฟังก์ชันการใช้งาน

ออกแบบบ้าน-แปลนบ้าน

การแบ่งโซนของบ้าน โดยส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 3 โซน ตามลำดับการเข้าถึง คือ สาธารณะ (Public Zone) กึ่งสาธารณะ (Semi-public Zone) และส่วนตัว (Private Zone) 

  • โซนสาธารณะ (Public Zone) คือโซนที่ทุกคนในบ้านเข้าถึงได้ รวมถึงแขกที่มาจากภายนอกก็เข้ามาใช้งานได้เช่นกัน ส่วนใหญ่จะห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่น ควรวางห้องนั่งเล่นให้อยู่ติดกับทางเข้าหลักของบ้าน เพื่อเป็นจุดรวมคน แล้วค่อยกระจายออกไปยังห้องต่าง ๆ 
  • โซนกึ่งสาธารณะ (Semi-Public Zone) คือโซนที่ทุกคนในบ้านเข้าถึงได้เช่นกัน สำหรับแขกอาจจะต้องได้รับอนุญาตหรือการเชิญชวนจากเจ้าของบ้านก่อน โดยส่วนใหญ่จะเป็น ห้องทานอาหาร ห้องน้ำ ห้องครัว และห้องทำงาน
  • โซนส่วนตัว (Private Zone) คือโซนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวที่สูงมาก ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ คือห้ามเข้าไปใช้งานเด็ดขาด ถึงแม้จะเป็นคนในบ้านเดียวกันก็ตาม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ห้องนอน ห้องน้ำที่ติดกับห้องนอน ห้องแต่งตัว ระเบียงห้อง 

เมื่อเรารู้เรื่องการแบ่งโซนในบ้านแล้ว จะทำให้เราจัดวางห้องต่าง ๆ และฟังก์ชันการใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยที่แต่ละส่วนการใช้งานจะไม่รบกวนกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น

  • เริ่มจากทางเข้าหลักคือประตูบ้าน ห้องแรกที่เชื่อมต่อจากประตูบ้านควรจะเป็นห้องนั่งเล่นหรือห้องรับแขก เพราะเป็นโซนสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้
  • ซึ่งห้องรับนั่งเล่นจะเป็นส่วนที่กระจายผู้ใช้งานออกไปยังโซนต่าง ๆ ไม่วาจะเป็นโซนกึ่งสาธารณะหรือโซนส่วนตัว 
  • ส่วนบ้านที่มีทางเข้ารอง ส่วนใหญ่จะเข้าทางห้องครัว เนื่องจากต้องขนของใช้ในครัวและวัตถุดิบในการทำอาหารค่อนข้างบ่อย มีน้ำหนักที่เยอะ นอกจากนี้เป็นทางที่ต้องนำขยะออกไปทิ้งนอกบ้านด้วย ทางเข้ารองจึงติดกับห้องครัว
Asset 22

หลักการวางเฟอร์นิเจอร์

ปัจจัยหลัก ๆ ที่ต้องสำรวจก่อนจะวางเฟอร์นิเจอร์ แบ่งออกเป็น 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 

  • จำนวนผู้ใช้งาน ผู้อยู่อาศัยในบ้านมีกี่คน เฉลี่ยจำนวนแขกที่จะมาเยี่ยมต่อครั้ง  
  • ผู้ใช้งานคือใครบ้าง เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนวัยทำงาน 
  • ช่วงเวลาที่ใช้งาน เช้ากลางวัน เย็น หรือตลอดเวลา 
  • กิจกรรมที่ทำมีอะไรบ้าง ในแต่ละช่วงเวลา ดูหนัง เล่นเกมส์ หรือกิจกรรมครอบครัวต่าง ๆ 

เมื่อเราสำรวจปัจจัยต่าง ๆ ครบแล้วจะทำให้เรากำหนดเฟอร์นิเจอร์ให้เข้ากับพื้นที่ได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องเสียงบประมาณในการเผื่อเยอะเกินไป

  • ขนาดของเฟอร์นิเจอร์ก็มีความสำคัญในการจัดวาง เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์มีหลายขนาดเพื่อตอบสนองความต้องการและการใช้งานที่หลากหลาย หากวางเฟอร์นิเจอร์แล้วขนาดไม่สัมพันธ์กับห้อง จะทำให้เกิดการใช้งานที่ลำบากและติดขัด

    ยกตัวอย่างเช่น เฟอร์นิเจอร์มีขนาดใหญ่เกินไปจน ไม่เหลือพื้นที่ทางเดินระหว่างเฟอร์นิเจอร์กับโต๊ะ อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้ยังให้ความรู้สึกอึดอัด แก่ผู้ใช้งานในส่วนนั้นด้วย
Asset 33

ออกแบบบ้านด้วยการวางแปลนในแต่ละห้อง

โดยการวางแปลนบ้านหรือผังแต่ละห้องไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการใช้งานและความต้องการของผู้ใช้พื้นที่ โดยเราจะแบ่งออกเป็น 5 ห้องด้วยกัน คือ

ห้องนั่งเล่น เป็นศูนย์กลางของบ้านที่รวมไว้หลายกิจกรรม มีทั้งดูทีวี อ่านหนังสือ พูดคุย เล่นเกมส์ ไปจนถึงใช้รับแขก โดยส่วนใหญ่หลักการที่นิยมใช้ในการวางแผลนคือ

  • ไม่ทำทางเดินผ่านทีวี เพื่อไม่เกิดการรบกวนขณะที่มีคนกำลังดูทีวี
  • นิยมวางที่นั่งหรือโซฟาเป็นรูปตัวแอล (L) หรือรูปตัวยู (U) เพื่อลดความกดดันและความอึดอัดที่เกิดจากการมองหน้ากันโดยตรง 
  • วางโต๊ะกลางห่างจากโซฟาอย่างน้อย 40 เซนติเมตร ให้เดินเข้าออกได้สะดวก
  • สำหรับครอบครัว 2- 4 คน ควรมีพื้นที่อย่างน้อย 9 ตารางเมตร หรือ 12-16 ตารางเมตรเพื่อความสบายในการใช้งาน
  • ผนังห้องนั่งเล่นควรเป็นผนังทึบเพื่อไม่ให้มีแสงสะท้อนเข้าตา ทำให้เกิดความรำคาญ
  •  

ห้องทานอาหาร ควรมีพื้นที่วางอาหารที่มากพอและเชื่อมต่อกับห้องครัวได้ ที่สำคัญคือ ระยะการนั่งและการเดินที่สะดวก ไม่รู้สึกอึดอัด

  • ติดทีวีฝั่งหัวโต๊ะ เพราะจะมีจำนวนคนเห็นทีวีมากกว่าติดด้านข้างโต๊ะ
  • ควรมีส่วนเตรียมอาหารอยู่ใกล้กับโต๊ะทานอาหาร ไว้สำหรับเก็บอุปกรณ์หรือเครื่องปรุง อาจจะเป็นเคาน์เตอร์หรือตู้เก็บของ
  • ขนาดห้องขึ้นอยู่กับจำนวนคน ขนาดโต๊ะทานอาหารและส่วนเสริมต่าง ๆ โดยครอบครัวส่วนใหญ่จะอยู่กัน 4 – 6 คน ควรมีพื้นที่ประมาณ 12 – 20 ตารางเมตร
  • ควรวางโต๊ะห่างจากผนังอย่างน้อย 1.50 เมตร เพื่อให้เลื่อนเก้าอี้นั่งได้สะดวก และเดินเสิร์ฟอาหารรอบโต๊ะได้
ออกแบบบ้าน

ห้องครัว หลักการออกแบบห้องครัวส่วนใหญ่จะเหมือนกัน คือต้องมีลำดับการใช้งานและระยะที่เหมาะสม มีหลักเบื้องต้นในการวางแปลนคือ 

  • การออกแบบเคาน์เตอร์ครัวมี 4 รูปแบบคือ รูปตัวไอ (I) รูปตัวแอล (L) รูปตัวยู (U) และแบบมีเคาน์เตอร์กลาง เหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็กไปถึงใหญ่ตามลำดับ 
  • เคาน์เตอร์มีความลึก 60 – 65 เซนติเมตร ความสูงเคาน์เตอร์ที่เหมาะกับคนไทย คือ 85 เซนติเมตร หากเคาน์เตอร์ต่ำเกินไป อาจทำให้ปวดหลังเพราะต้องก้มตลอดเวลาขณะใช้งาน
  • การจัดตำแหน่งอุปกรณ์ในครัวทั้ง 3 อย่าง คือ ตู้เย็น อ่างล้างจาน และเตาไฟ จะมีลำดับการใช้งาน คือ หยิบของจากตู้เย็นวางข้างอ่างล้างจาน แล้วล้างหรือจัดเตรียม จากนั้นนำไปปรุงให้สุกที่เตาไฟ
  • บริเวณอ่างล้างจานควรมีหน้าต่างเพื่อระบายความชื้น ส่วนบริเวณเตาไฟควรเป็นผนังทึบเพื่อกันลม และควรมีท่อดูดควันเพื่อไม่ให้เกิดคราบเขม่าตามผนัง
  • ทางเดินระหว่างเคาน์เตอร์ควรกว้างอย่างน้อย 1.50 เมตร ให้เดินสวนกันได้สะดวก
  • ควรมีทางเข้าออกหลังบ้านเพื่อทิ้งขยะ และขนของเข้าบ้านได้สะดวก

ห้องนอน หลักการวางแปลนห้องนอน จะเน้นไปที่การสร้างความสงบ ความเป็นส่วนตัว และควาสบายในการพักผ่อน

  • ห้องนอนทั่วไปจะมีพื้นที่ประมาณ 18 – 24 ตารางเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดเตียงและฟังก์ชันในห้องนอน
  • ทางเดินข้างเตียงควรกว้างอย่างน้อย 60 เซนติเมตร เพื่อให้เดินสะดวก
  • ไม่ควรวางหัวเตียงติดกับหน้าต่าง เพราะลมพัดเข้าที่ศรีษะโดยตรงและจะทำให้ไม่สบาย
  • เมื่อเปิดประตูห้องนอนเข้ามา ไม่ควรให้เห็นเตียงนอนเต็ม ๆ อาจจะให้เห็นได้แค่ส่วนขาหรือปลายเท้า เพื่อความเป็นส่วนตัว

ห้องน้ำ ฟังก์ชันในการใช้งานห้องน้ำส่วนใหญ่จะคล้ายกันทุกบ้าน จะแตกต่างกันในเรื่องของฟังก์ชันเสริม เช่น อ่างอาบน้ำ หรือเป็นห้องน้ำผู้สูงอายุ ส่วนการวางผังห้องน้ำพื้นฐาน มีดังนี้

  • ประตูห้องน้ำทั่วไปควรเปิดเข้า เพื่อไม่ให้น้ำหยดออกมาด้านนอก แต่ถ้าเป็นห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ควรใช้ประตูแบบเปิดออกหรือบานเลื่อน เพื่อให้ง่ายต่อการช่วยเหลือเมื่อมีอุบัติเหตุ
  • ควรแยกพื้นที่ส่วนแห้ง คือ อ่างล้างหน้าและโถสุขภัณฑ์ เพื่อให้ทำความสะอาดง่าย และลดอันตรายจากพื้นที่เปียกน้ำ
  • พื้นที่ส่วนเปียกสำหรับอาบน้ำควรกว้างอย่างน้อย 80 เซนติเมตร และลดระดับพื้นลงจากโซนแห้ง 10 เซนติเมตร 
  • ผนังด้านที่ติดตั้งสุขภัณฑ์แนะนำให้ทำเป็นผนัง 2 ชั้น เพื่อฝังท่อน้ำแล้วลดเสียงรบกวนไปยังห้องข้างเคียง 

ตอนถัดไปเป็นเรื่องของ ขั้นตอนในการรีโนเวทบ้าน จะมีขั้นตอนไหนบ้าง ดูได้ที่ลิงค์นี้เลย

สำหรับใครที่มองหา “ความรู้พื้นฐานในการรีโนเวทบ้าน” เรื่องอื่น ๆ ตามอ่านต่อตรงนี้ได้เลยยยย