หลายปีที่ผ่านมา เราได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของมลภาวะทางอากาศอย่าง PM 2.5 กันมาตลอด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสื่อ หรือบรรดาผู้เชี่ยวชาญ ก็มักจะมาให้ความรู้เบื้องต้น และหาแนวทางป้องกันฝุ่น วิธีแก้ไขฝุ่นกันสารพัด รวมถึงรัฐบาลก็รีบเร่งหาแนวทาง และขอความร่วมมือประชาชนในการช่วยกันรณรงค์ลดการใช้ควันกันมากมาย
 
แต่ก็แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะในเวลาเดียวกัน คนไทยส่วนมากก็หลงลืมของการมีอยู่ของฝุ่น เพราะต้องให้ความสนใจกับโรคระบาดไวรัสโควิด 19
 
เพราะหลายคนมองว่าฝุ่นระยะเวลาความอันตรายไม่ได้น่ากลัวเท่ากับโควิด บางทีหากไม่รักษาให้ตรงเวลาก็อาจเสียชีวิตในทันที ต่างจาก PM2.5 ที่ผลลัพธ์ของมันคือการสะสมไปเรื่อยๆ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของมะเร็งปอดได้ในอนาคต
 
เพราะความที่ฝุ่นดูเหมือนจะไม่ค่อยส่งผลกับชีวิตมากสักเท่าไหร่ จึงทำให้หลายๆ คนลืมไปว่า ฝุ่นนั้นคือภัยร้ายที่เงียบที่สุดและยังคงวนเวียนอยู่รอบตัวเราในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะไปข้างนอก อยู่ในบ้าน หรือแม้แต่อยู่ในรถยนต์
 
“คนไทยมียอดเสียชีวิตจากฝุ่นมากกว่าอุบัติเหตุรถยนต์ทางบก”
 
หากถามว่าทำไม PM2.5 ถึงน่ากลัว โดยได้มีงานวิจัยออกมาเผยว่า คนไทยมีการเสียชีวิตด้วยฝุ่น PM2.5 ประมาณ 70,000 คนต่อปี และหากนับเป็นระดับโลก ฝุ่น PM2.5 สามารถคร่าชีวิตคนด้วยมะเร็งปอดถึง 10,000,000 คนต่อปี!
 
ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ออกมาเผยอีกว่า ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 สูงเป็น 4 เท่าของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางจราจรทางบกเสียอีก
 
ทำให้สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) จัดให้ PM2.5 เป็นวาระแห่งมลพิษทางอากาศ ที่ถูกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็ง เพราะตามสถิติ WHO ประเทศไทยนับเป็นอันดับ 2 ของโลกที่พบว่ามีการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในทุกปี
 
เห็นหรือไม่ ว่าฝุ่นเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่หลายคนกลับมองข้ามจนกลายเป็นเรื่องปกติ และอยากรู้มั้ยว่า ประเทศไทยเนี่ยมีถึง 77 จังหวัด แล้วจังหวัดไหนที่มีฝุ่นมากที่สุดกันล่ะ
 
ในหัวของหลายคนอาจจะคิดว่าเป็น เชียงใหม่ แต่บอกเลยว่าไม่ใช่เพราะจังหวัดนั้นคือ กรุงเทพฯ นั่นเอง เมืองหลวงของประเทศไทยที่ตอนนี้กำลังอยู่ในฝูงมลภาวะพิษแบบเลี่ยงไม่ได้ จนทางการต้องออกแคมเปญ ‘รถคันนี้ช่วยลดฝุ่น’ ออกมา ว่าแต่มันเกิดอะไรขึ้นบ้างกับฝุ่นกรุงเทพตรงนี้ เราไปหาคำตอบกัน

1

กรุงเทพฯ ครองอันดับ 1 มีฝุ่นเยอะมากที่สุดในไทย

เห็นกรุงเทพฯ ดูเจริญแบบนี้แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะดีไปเสียทุกอย่าง เพราะปัจจุบันกรุงเทพฯ ติดอันดับที่ 18 ของโลกจาก 110 ประเทศที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดจากผลสำรวจของ IQAir
 
โดยในประเทศไทย เขตที่อยู่ในกรุงเทพคว้าไปถึง 6 อันดับแรกที่มีค่าฝุ่นมากที่สุด คือ จอมทอง, บางกอกใหญ่, วัฒนา, บางบอน, พญาไท และจตุจักร ตามลำดับ

  2  

อะไรที่ทำให้กรุงเทพฯ มี PM 2.5 สะสมมากกว่าจังหวัดอื่น?

  • ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์
    • เมื่อกรุงเทพฯ เป็นแอ่ง
      • จากการวิเคราะห์ของเว็บไซต์ Reseach & Innovation ได้กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้กรุงเทพฯ มี PM2.5 สะสมมากกว่าในจังหวัดอื่นๆ ก็เพราะพื้นที่ของกรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ จึงส่งผลให้ฝุ่นและมลพิษต่างๆ เกิดการกระจุกตัว
      • รวมทั้งจังหวัดกรุงเทพมีการจัดวางผังเมืองที่ไม่เป็นระเบียบ รวมถึงความหนาแน่นของอาคารสิ่งปลูกสร้าง ส่งผลให้กระแสลมไหลผ่านได้น้อย
      • ส่วนความเร็วของลมก็ต่ำ ดังนั้นการพัดพาของฝุ่นให้ออกจากเมืองจึงทำได้ไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น
      • รวมถึงการออกแบบของถนนที่ไม่เชื่อมต่อกันเป็นโครงข่าย แถมยังมีซอยตันเยอะ และยังมีจราจรติดขัด จึงเกิดการปล่อยมลพิษที่สูงตามมา ​
    • ความเป็นจุดศูนย์กลาง
      • กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของประเทศไทย เมื่อมีภูเขาโอบล้อมที่ภาคเหนือเยอะ ทิศทางลมส่วนมากจึงถ่ายเทไปตามลม และทำให้ตกมาอยู่ที่กรุงเทพ เพราะเนื่องจากกรุงเทพคือศูนย์กลางประเทศที่ลมจะตกค้างมากที่สุด
      • ฝุ่นละอองจึงเข้าในทุกทิศทุกทาง กรุงเทพฯ จึงได้รับผลกระทบของทั้งเพื่อนบ้าน และในประเทศอีกด้วย
    • อยู่ใกล้พื้นที่โรงงาน
      • กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ใกล้กับบริเวณ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ
      • ซึ่งจังหวัดเหล่านี้มีโรงงานอุตสากรรม โรงงานผลิตไฟฟ้า การขนส่งค่อนข้างมาก ฝุ่นและควันจึงมักมารวมอยู่ตรงใจกลางและนั่นก็คือจังหวัดกรุงเทพฯ
  • การเผา
    • การเผาในที่โล่งแจ้ง
      • ด้วยความที่ชาวบ้านต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย จึงใช้วิธีเผาวัสดุการเกษตร อาทิ การเผาตอซังในไร่ข้าวโพด นาข้าว การเผาขยะ เพราะการเผาเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ชาวบ้านประหยัดเรื่องต้นทุนมากกว่า
    • การเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน
      • มลพิษข้ามแดนของฝุ่นควัน ที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านมีการเผาวัสดุทางเกษตรหลังจากการเพาะปลูกเช่นเดียวกัน แต่อุปสรรคคือมันอยู่นอกเหนือการควบคุมของอำนาจรัฐบาลไทย จึงจัดการได้ยาก เพราะอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ด้วย
  • การจราจรและรถยนต์จำนวนมาก
    • พื้นที่ถนนก่อสร้างเยอะ
      • กรุงเทพฯ มีพื้นที่ที่เป็นสี่แยก สามแยก ที่เป็นจราจรไฟแดงค่อนข้างเยอะ รวมถึงยังมีเขตก่อสร้างของรถไฟฟ้าต่างๆ อีกด้วย จึงมีความรุนแรงของฝุ่นมากขึ้น
    • จำนวนรถส่วนตัวเยอะ
      • กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีจราจรติดขัดค่อนข้างมากเป็นอันดับ 1
      • โดยประชากรในกรุงเทพนั้นมีรถยนต์ส่วนตัวกว่า 10,244,144 คัน รองลงมาคือจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งส่วนมากยังใช้รถยนต์ธรรมดา ที่ยังไม่ใช่ EV

  3  

PM2.5 กทม.ไม่ทำอะไรจริงๆ เหรอ?

ต้องย้อนกลับไปก่อนช่วง 2566 ที่ประเทศกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับฝุ่นและไวรัสโควิด 19 ควบคู่กันอยู่ แม้ว่าจะอยู่ในช่วง Work from home คนงดใช้รถกันมากขึ้น แต่ไหงค่า PM2.5 ในกรุงเทพถึงยังทะลุสีแดง
 
ซึ่งในช่วงนั้นก็มีการจัดการอยู่ในระดับนึง แต่ก็มีเสียงวิพากย์วิจารณ์ว่ารัฐบาลแก้ไขไม่จริงจัง เพราะทำก็มีความหมายเท่าเดิม ซึ่งรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขแน่เหรอ ? เราจะไปดูนโยบายคร่าวๆ กันว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยกับกรุงเทพฯ จัดการอะไรบ้าง
 
  • การเผาภาคเกษตร
    • รัฐบาลเคยสั่งห้ามให้ชาวบ้านเผา ซึ่งวิธีนี้ส่งผลให้ชาวบ้านที่ต้องทำมาหากินกันอย่างลำบากมากขึ้น ทางรัฐบาลจึงเปลี่ยนรูปแบบจากการ ‘ห้าม’ ให้ ‘ลดการเผาแทน’
    • หากชาวบ้านต้องการเผาเพื่อทำการเกษตรจะต้องแจ้งอบต. หรือผู้ใหญ่บ้านเสียก่อน เพื่อแนะนำว่าวันไหนควรเผา เพื่อที่จะดูประกอบกับ ณ เวลานั้น ว่าค่าดัชนี PM2.5 อยู่สูงไหม หากอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจึงจะอนุญาตให้เผาได้
  • สุขภาพประชาชน
    • กทม.ได้มีการเพิ่มเรื่องของเครื่องฟอกอากาศให้ในแต่ละพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง เช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล รวมถึงโรงพยาบาล
    • อีกทั้งยังมีการเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ เพื่อปรึกษาสุขภาพประชาชนอีกด้วย
  • การพัฒนาแอป AirBKK
    • แอปที่ได้รับการพัฒนาโดยสามารถเช็กและพยากรณ์ฝุ่นได้ละเอียด และเรียลไทม์มากขึ้น เพื่อที่ประชาชนจะได้รู้ทันค่าฝุ่นระหว่างวันของกรุงเทพฯ
  • จัดปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ในระยะเวลา 4 ปี
    • ด้วยโครงการ “ปลูกต้นไม้ล้านต้น เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง”
    • อุปสรรคของโครงการนี้คือการที่ต้องมีคนคอยดูแลอยู่เสมอ เพราะบางพื้นที่หากไม่มีการดูแลที่เพียงพอ ต้นไม้ก็จะตายได้ง่าย ดังนั้นโครงการนี้ท่านชัชชาติจึงดูแลอย่างใกล้ชิด
  • การทำฝนเทียม
    • เคยมีการทำฝนเทียมเพื่อเรียกฝน โดยการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยทำให้มีเมฆและฝนที่เกิดจากฝนหลวงและฝนธรรมชาติเคลื่อนที่เข้าบริเวณกรุงเทพฯ มากขึ้น ซึ่งช่วยดูดซับฝุ่น PM2.5 ส่งผลให้สถานการณ์ฝุ่นอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น ซึ่งช่วยให้ไม่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานและแนวโน้มดีขึ้น
    • แต่ว่าการทำฝนเทียมนั้นทำได้ไม่บ่อยมาก เพราะต้องดูปัจจัยและงบประมาณหลายๆ อย่าง ดังนั้นผลลัพธ์จึงได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น ยังต้องเร่งหาทางเพิ่มเติม
  • การก่อสร้าง
    • รัฐบาลได้มีมาตรการเข้าควบคุมการก่อสร้าง ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิต PM 2.5 ซึ่งก็ไม่ได้ห้ามการก่อสร้าง แต่ว่าจะเป็นการขอความร่วมมือที่ช่วงไหนมี PM 2.5 เยอะมากๆ ก็จะมีการขอให้งด แต่ขณะเดียวกันหากมีการก่อสร้างไหนที่ไม่ก่อให้เกิดฝุ่นก็สามารถทำได้เช่นเดิม
  • การฉีดน้ำขึ้นไปบนฟ้า 
    • กทม. ได้มีการฉีดน้ำบนที่สูงในบริเวณที่มีพื้นที่ฝุ่น หวังช่วยให้ฝุ่นลดน้อยลง แต่ก็ได้คำตอบจากการร่วมมือกับนักวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา ในการวิเคราะห์การฉีดน้ำว่าได้ผลแค่ไหน
    • ซึ่งพบว่าการฉีดน้ำในอากาศ ไม่มีผลทำให้ค่าฝุ่นในอากาศลดลง ซึ่งลดไปเพียง 1-2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่า ไม่ได้ลดลงเลย
  • เปลี่ยนรถเมล์สาธารณะให้เป็นรถเมล์ EV ภายใน 7 ปี
    • การเปลี่ยนรถเมล์ให้เป็น EV เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะขนส่งสาธารณะส่วนมากจะเป็นรถเก่า และมีไอน้ำส่งผลกระทบต่อประชาชนที่รอรถเป็นอย่างมาก
    • ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะได้คันใหม่แล้ว ยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกกว่า 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
    • โดยปี 2566 ประเทศไทยได้มีรถเมล์ไฟฟ้าวิ่งแล้ว ถึง 4,000 คัน จากทั้งหมดในระบบประมาณ 7,000 คัน โดยเป้าหมายจะมีการเปลี่ยนรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมด ให้ได้ 100% ภายใน 7 ปี
  • การตรวจควันดำและท่อไอเสีย
    • สำหรับการตรวจควันดำทางกรมทางขนส่งทางบก ก็ได้ออกนโยบายว่าหากพบเห็นคนกระทำความผิดจะปรับสูงสุด 5,000 บาท และสั่งห้ามใช้รถด้วยการพ่นข้อความ “ห้ามใช้” จนกว่าเจ้าของรถจะนำรถไปแก้ไขสภาพเครื่องยนต์ไม่ให้มีค่าควันดำเกินกำหนด
    • ซึ่งทั้งหมดที่เราหยิบมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รัฐบาลทำเท่านั้น ยังมีอีกมากมายที่รัฐบาลเคยดำเนินการ แต่หากเราสังเกตดีๆ ปัญหาที่ส่งผลกระทบ และเป็นปัญหาต่อตัวเราในชีวิตประจำวันมากที่สุด จะเกี่ยวข้องกับ ‘ระบบเครื่องยนต์ หรือรถยนต์’ เป็นส่วนมาก
    • เพราะปัจจุบันกรุงเทพฯ มีอัตราการใช้รถยนต์ส่วนตัวที่มีทั้งน้ำมัน และใช้น้ำมันดีเซลรวมกว่า 10 ล้านคัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อไป ไม่สงสัยเลยว่าทำไมฝุ่นละอองถึงยังไม่หมดไป
บอกเลยคนกรุงคนไหนเป็นภูมิแพ้ง่ายก็คือรับไปเต็มๆ แล้วทีนี้ทาง กทม. เขามีวิธีแก้ปัญหาหรืออะไรน่าสนใจเกี่ยวกับรถยนต์ไหมในช่วงนี้ บอกเลยว่าห้ามพลาด!

  4  

กทม.กับแคมเปญ ‘รถคันนี้ลดฝุ่น’ 

ซึ่งทางกทม.ก็ไม่รอช้าที่จะมาอัปเดตวิธีการรับมือของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 ธ.ค 2566 ที่ผ่านมา โดยได้มีการเข้าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ซึ่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลปัญหาฝุ่น
 
โดยการมอบจุลินทรีย์พิเศษให้กับกทม. เพื่อนำไปให้เกษตรกร และอีกหนึ่งแคมเปญที่น่าสนใจก็คือเชิญชวนประชาชนมาเข้าร่วมแคมเปญ “รถคันนี้ลดฝุ่น” เพื่อเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง, ไส้กรอง ลดฝุ่น PM2.5
 
เพราะจากงานวิจัยที่ได้ ระบุว่า PM2.5 ส่วนมากจะมาจากยานพาหนะ 60% และ 90% ของไอเสียที่ออกมาคือ ฝุ่น ทำให้เกิดการสั่งสมของ PM2.5 ดังนั้นแคมเปญ ‘รถคันนี้ลดฝุ่น’ จึงเกิดขึ้นเพื่อที่ต้องการควบคุมท่อไอเสียจากรถยนต์ในภาคการจราจรมากขึ้นนั่นเอง
 
โดยแคมเปญนี้เข้าร่วมง่ายมาก นั่นก็คือ ให้ร่วมกันเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และเปลี่ยนไส้กรองของรถเก่าตามบริษัทที่ร่วมรายการ โดยรถยนต์ที่ร่วมแคมเปญจะได้เปลี่ยนในราคาพิเศษหรือส่วนลด ที่จะมาพร้อมกับสิทธิพิเศษอีกมากมาย!!
 
ซึ่งเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ยังได้มีการเผยอีกว่า มีรถที่เข้าร่วมแคมเปญแล้วกว่า 40,488 คัน และทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังได้เผยอีกว่า ตั้งแต่ที่มีแคมเปญนี้ออกมา ก็ช่วยลดไปได้ถึง 2% แล้ว โดยเป้าหมายคาดไว้ว่าจะต้องทำให้ได้ 300,000 คัน เพื่อช่วยลดฝุ่น PM2.5 จากภาคการจราจรให้ได้ถึง 15%
 
หากมีประชาชนเข้าร่วมตามเป้าได้ ก็จะช่วยทำให้ช่วยลดฝุ่นภาคจราจรได้ดีขึ้น และเชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้อย่างแน่นอน โดยแคมเปญนี้จะมีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567
 
และแค่นั้นยังไม่พอ เพราะทางกทม. ยังเข้าร่วมกับภาคเอกชนในการให้ส่วนลดสูงสุด​ 55% ! สำหรับคนที่ร่วมแคมเปญนี้อีกด้วย อาทิ
 
  • ส่วนลดราคาน้ำมัน
  • น้ำมันเครื่อง
  • อะไหล่
  • ตรวจเช็กสภาพรถฟรี
  • เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องฟรี
  • พร้อมของสมนาคุณมากมาย​ จากค่ายน้ำมัน​ ค่ายรถยนต์​ และห้างดัง​
  • รวมถึงยังให้สิทธิ์จอดฟรีเพียงมีสติ้กเกอร์เฉพาะคนที่เข้าร่วมแคมเปญเท่านั้นตั้งแต่วันนี้ – 29 กุมภาพันธ์ 2567 นี้อีกด้วย

  5  

ทำไมเราถึงต้องเปลี่ยนไส้กรองแอร์รถยนต์?

ก่อนอื่นเรามาไขข้อสงสัยกันก่อนว่าทำไมรัฐบาลถึงอยากให้เปลี่ยนไส้กรอง หากคนมีรถน่าจะทราบกันดีว่ารถทุกคันมักจะมีไส้กรองอากาศ หรือกรองแอร์ ไว้เพื่อดักจับกรองอนุภาคฝุ่นได้ 0.3 ไมครอน แน่นอนว่าขนาดฝุ่นถือว่าเล็กกว่าความหนาเส้นผมของมนุษย์ถึง 300 เท่า!
 
ข้อดีของไส้กรองจึงช่วยป้องกันมลพิษขนาดเล็กหรือฝุ่นละอองบนท้องถนน ของควันไอเสียที่เข้ามาภายในรถได้ และยังทำให้สุขภาพของคนขับได้สัมผัสกับฝุ่นน้อยลงอีกด้วย
 
แต่สำหรับฝุ่น PM2.5 ที่มีขนาดเล็กกว่าถึง 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผม และมันยังสามารถลอยในอากาศได้นานและไกลถึง 1,000 กิโลเมตร
 
แสดงว่าถ้าเราขับรถไปยังพื้นที่ PM 2.5 ที่มีค่าปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐาน มันก็จะยิ่งส่งผลทำให้เกิดไส้กรองอากาศอุดตัน อีกทั้งยังขัดขวางการไหลเวียนของอากาศที่เข้าไปสู่ภายในรถ นี้จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้มีมลพิษแทรกผ่านไส้กรองได้
 
และจะส่งผลให้อากาศอุดตัน ระบบทำความเย็นในตัวรถทำงานหนักขึ้น นอกจากจะเสียสุขภาพแล้ว รถยังเสื่อมไวอีกด้วย ดังนั้นหากรักตัวเองและรักรถด้วย ก็อย่าลืมเปลี่ยนไส้กรองด้วยนะ

  6  

มุมมองหลากหลายฝ่าย

มุมมองท่านชัชชาติผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ
“สำหรับแคมเปญนี้ หากเปลี่ยนน้ำมันเครื่องกับเครือข่ายที่ร่วมแคมเปญจะได้รับสติ้กเกอร์มาติดที่รถ และยังได้รับสิทธิ์จอดรถฟรีเพิ่ม เช่น เซ็นทรัล ที่ให้สิทธิ์จอดรถฟรีเพิ่ม 2 ชั่วโมง อย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีรถเข้าร่วมแคมเปญเพิ่มขึ้นจาก 40,488 คัน
 
และล่าสุดเพิ่มมาถึง 81,000 คัน โดยคาดว่าตอนนี้ตัวเลขน่าจะเพิ่มขึ้นอีก นี่จึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยลดฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะรถเก่า ถ้าเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองจะช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้มากกว่าเท่าตัว
 
ปัจจุบันมีค่ายรถและภาคเอกชนเข้าร่วมค่อนข้างเยอะ เป็นการช่วยกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซลหรือรถรุ่นเก่าสามารถเปลี่ยนได้ก่อนถึงแม้ยังไม่ถึงเวลาเปลี่ยน เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่สภาวะสภาพอากาศที่วิกฤต อยากฝากให้ทุกคนช่วยกัน เพราะทุกคนสามารถเป็นผู้ดูแลอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้”
 
————————–
 
มุมมองของประชาชน
“รู้สึกดีใจที่มีคนไทยเห็นความสำคัญกับ PM2.5 มากขึ้น ถึงปัจจุบันค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ จะรุนแรงในทุกเขต แคมเปญนี้นอกจากจะได้เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องกับไส้กรอง เรายังสามารถนำใบเสร็จไปแลกเป็นที่จอดในเครือของเซนทรัล และโลตัสได้อีกด้วย ถือว่าเป็นแคมเปญที่ภาคเอกชนและภาครัฐตอบโจทย์ดีมากๆ
 
แต่แคมเปญแบบนี้น่าเสียดายที่ไม่ได้มีตลอด เพราะถือว่าช่วยลดไปชั่วคราวเท่านั้น แต่ว่าจะดีกว่าไหมถ้าทางรัฐบาลเข้าจัดการกับต้นตออย่าง ขสมก. มากกว่า
 
เพราะประชาชนที่ไม่ว่าขับรถผ่าน ทั้งจักรยานยนต์ รถยนต์ รวมถึงคนที่ยืนรอรถเมล์ ก็มักจะเห็นควันดำบ่อยๆ จากรถเมล์คันเก่าๆ อยู่เสมอ จึงไม่แน่ใจว่าทางรัฐบาลเช็กและตรวจสอบแน่หรือเปล่า เพราะขนาดรถกระบะที่มีการแต่งท่อ ก็ยังมีควันดำอยู่เลย”

  7  

สรุปส่งท้าย

เพื่อนๆ คิดอย่างไรกันบ้างกับปัญหา PM2.5 ของภาคการจราจร คิดว่าแคมเปญรถคันนี้ลดฝุ่นจะถึงเป้าตามที่คิดไหม? และจะเวิร์คแค่ไหน? ยังไงก็อย่าลืมเข้าไปร่วมแคมเปญกันนะ เพราะแคมเปญนี้ระยะเวลาสั้นมากๆ อยู่ถึงช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น
 
และถึงแม้ฝุ่นจะลดน้อยลงในช่วงเวลานี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะหายไปตลอด เพราะฉะนั้นทุกคนก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับตัวเอง และพยายามป้องกัน อย่างการสวมหน้ากาก N95 และให้ตระหนักเสมอว่า ฝุ่นนั้นมันร้ายแรงกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะกระทบกับตัวเอง ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทยอีกด้วย
 
ถึงแม้ฝุ่น PM2.5 ดูเหมือนจะไม่เห็นผลกระทบโดยตรง แต่ผลของ PM2.5 ได้ซ่อนอยู่ในมะเร็งปอดและโรคหัวใจและหลอดเลือดมาเรื่อยๆ และมันจะค่อยๆ กลืนกินไปทีละนิด
 
ฉะนั้นใครมีผู้หลักผู้ใหญ่ ก็ต้องดูแลใส่ใจกันมากขึ้น หรือใครที่ชอบออกกำลังกายในสวนของกรุงเทพฯ ก็อย่าลืมวัดค่าฝุ่นในทุกๆ วัน เพื่อเช็กสภาพอากาศก่อนจะดีกว่า ฉะนั้นก็หวังว่ารัฐบาลจะมีแคมเปญดีๆ แบบนี้ออกมาอีกเรื่อยๆ
 
ดังนั้นใครที่มีรถก็อย่าลืมไปเข้าร่วม #รถคันนี้ลดฝุ่น ซึ่งภาคเอกชนที่เข้าร่วมก็จะมีอาทิ
 
  • Auto1, FIT Auto, Bangchak, Shell, PT,
  • Autobacs, Cockpit, B-Quik,
  • LIQUI MOLY, Hino, Toyota, Suzuki, Nissan, Mitsubishi Motors, Isuzu, Honda, Ford, Mazda B-Quik 

โดยเฉพาะกับ Lotus, Central ที่เราสามารถนำสติกเกอร์ได้ที่จากการเข้าร่วมแคมเปญ มาแลกรับสิทธิ์จอดรถฟรีที่เซนทรัลได้เพิ่ม 2 ชั่วโมง ส่วนโลตัสได้ถึง 4 ชั่วโมงเชียวนะ เพื่อนๆ สามารถเข้าร่วมแคมเปญ ‘รถคันนี้ลดฝุ่น’ ได้ที่ศูนย์บริการรถยนต์ทั่วประเทศ

📍สามารถดูโปรโมชั่น ส่วนลดเพิ่มเติมได้ที่ เพจกรุงเทพมหานคร ได้เลยยย และอันนี้คือเว็บแจ้งความควันดำ หากใครแจ้งความที่เว็บนี้ ก็ได้ค่าส่วนแบ่ง 50% ไปเลยนะะ!!
 
หวังว่าฝุ่น PM 2.5 จะหายไปในจากประเทศไทยได้สักวัน..