ถ้าถามว่าประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากประเทศไหนมามากที่สุด เชื่อว่าหลายคนต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ประเทศจีน’ เพราะนอกเหนือเรื่องท่องเที่ยวที่เรามักจะเห็นคนจีนตามพื้นที่ต่างๆ หากสังเกตมากกว่านี้ เรายังได้เจอทั้งร้านอาหาร ที่ดูเหมือนว่าคนจีนจะเริ่มเข้ามาลงทุนมากขึ้น จนเรียกได้ว่า หลายๆ อย่างของประเทศจีนเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้นจนน่าตกใจ
 
การที่นักท่องเที่ยวจีน เข้าไทยมาบ่อยๆ แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ดีในมุมมองของเศรษฐกิจ เพราะตามรายงาน รายได้ที่ได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาประเทศไทยนั้น พบว่าช่วยสร้างรายได้สูงกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่ามากเลยทีเดียว
 
อกาสตรงนี้ที่ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนกลายเป็นเป้าหมายหลักของภาครัฐ เอกชน รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่ต้องหารายได้จากคนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวจีนที่ยังคงเป็นกลุ่มหลักๆ ที่สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวไทยได้อย่างมหาศาล
 
ขณะเดียวกัน ททท ก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้จากนักท่องเที่ยวจีนนั้น ลดลงไปอย่างมาก ถ้าเทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวถึง 11,138,658 คน/ครั้ง ต่อปี
 
ขณะเดียวกัน ในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยเพียง 3.1 ล้านคน ซึ่งสร้างรายได้ 190,400 – 196,000 ล้านบาท จากที่มีการตั้งเป้าไว้ 4.04 – 4.40 ล้านคน และเป้ารายได้คือ 226,240 – 246,400 ล้านบาท ซึ่งนับว่าต่ำกว่าเป้าที่วางไว้
 
ว่าแต่มันเกิดอะไรขึ้นกันนะ?
 

1

ทำไมคนจีนถึงเลือกที่จะมาเที่ยวประเทศไทย

ต้องย้อนกลับไปก่อนว่า ในประเทศจีนแม้ว่าจะเป็นแผ่นดินใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ที่มีดินแดนตะวันออก ชายฝั่งยาวถึง 14,500 กิโลเมตร แต่ด้วยความที่มีสภาพอากาศแปรปรวนอยู่เสมอ ทำให้นักท่องเที่ยวอาจไม่สามารถเล่นน้ำได้สบายๆ เหมือนกับทะเลหน้าร้อนแบบประเทศไทย
 
และที่สำคัญการไปเที่ยวทะเลนั้นต้องค่าใช้จ่ายที่สูงอีกด้วย เพราะว่าทะเลส่วนใหญ่เป็นหนึ่งในที่เที่ยวที่คนจีนนิยม แต่ทะเลนั้นกลับอยู่ไกลมาก ซึ่งค่าตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวทะเลนับว่าแพงกว่าไปต่างประเทศ ยิ่งช่วงหน้าเทศกาลอย่างตรุษจีนยิ่งมากเป็นพิเศษ
 
โดยจากการสำรวจของเพจ อ้ายจง คนไทยที่ชอบไปเที่ยวจีนก็ได้มาแชร์ว่า ‘แค่ค่าเดินทางจาก ซานย่า ไปยัง ปักกิ่ง ก็ใช้จ่ายมากกว่า 10,000 หยวนหรือตีเกือบ 50,000 บาทไทยเลยทีเดียว’
 
จึงมีคนจีนหลายคนที่มองว่าการมาไปทะเลที่จีน กับบินมาเที่ยวประเทศไทยนั้นค่าใช้จ่ายถือว่าเทียบเท่ากันอย่างมาก แถมประเทศไทยยังค่าครองชีพต่ำ ตั้งอยู่ในเขตร้อนที่มีอากาศกำลังดี ทะเลสวย แถมอาหารยังสด ราคาเข้าถึงง่าย
 
นี่อาจจะเป็นปัจจัยหลักที่คนจีนมองว่า การมาเที่ยวไทยก็นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าจะดีกว่ามาก แต่แล้วอะไรที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาประเทศไทยน้อยลงกันล่ะ ทาง LifeSara ก็รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจในหลายส่วนมาให้อ่านกัน

  2  

สาเหตุที่คาดว่าทำให้นักท่องเที่ยวจีน เข้าไทยน้อยลง

  • ปัจจัยที่มาจากภายในประเทศจีนเอง
    • ปัจจุบันประเทศจีนอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจงชะลอตัว
      • ตรงนี้จึงเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการจับจ่ายใช้สอย ทำให้คนจีนมีกำลังซื้อน้อยลง อย่างคนที่มีรายได้อยู่ในระดับ Middle income ก็มักจะเริ่มระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น จึงไม่ค่อยอยู่ในช่วงที่ต้องการไปเที่ยวต่างประเทศ
    • รัฐบาลจีนไม่ส่งเสริมให้คนจีนออกนอกประเทศ​ 
      • หลังโควิด – 19 รัฐบาลจีนเริ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น รวมถึงวางแผนเพื่อดึงต่างชาติมาเที่ยวในประเทศ ทำให้คนจีนบินมาเที่ยวที่ไทยน้อยลง นั่นจึงทำให้จำนวนการเที่ยวในประเทศจีนสูงมากขึ้น
    • ปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศของจีน

  • ไม่มั่นใจ ไม่เชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยของประเทศไทย
    • เหตุการณ์กราดยิง
      • เกิดเหตุกราดยิงในสยามพารากอน ใจกลางกรุงเทพฯ ที่มีคนจีนถูกยิงเสียชีวิต
    • ข่าวลือเรื่องค้าอวัยวะ
      • เกิดข่าวลือว่าประเทศไทยมีการค้าอวัยวะ ขายไตเถื่อนในไทยของนักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อนำไปขายต่อยังประเทศที่สาม ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศและสร้างความเป็นกังวลอย่างมาก

  • ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
    • เที่ยวบินลดลง ตั๋วแพงขึ้น
      • จากการหายไปของสายการบิน Low cost เพราะตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงทำให้สายการบินของจีน ขอแจ้งยกเลิกเที่ยวบินเข้าไทย
    • เกิดการแข่งขันการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น
      • นักท่องเที่ยวจีนจึงมีทางเลือกใหม่ในการไปเที่ยวประเทศอื่นมากขึ้น
    • เงื่อนไขวีซ่าที่เข้มงวดขึ้น
      • กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ตั้งเงื่อนไขการอนุมัติวีซานักท่องเที่ยวจีน (E-VISA) ที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันกลุ่มคนที่เข้ามาทำธุรกิจแบบผิดกฎหมาย หากจะเข้าไทยจะต้องแสดงหลักฐานการเงินในบัญชีธนาคารเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 หยวน หรือประมาณ 250,000 บาท

  3  

ผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวลดลง

ในมุมของเศรษฐกิจ การที่คนจีนมาเที่ยวน้อยลง ส่งผลกระทบของรายได้ ในด้านการฟื้นฟูการท่องเที่ยว และภาคเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เพราะนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นรายได้ที่สำคัญ
 
การที่ ททท. ต้องรีบเร่งดึงคนจีนเข้าประเทศก็เพราะว่าต้องการที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้ได้เหมือนในปี 2562 โดยในปีนั้น ททท.ได้รับจัดสรรงบประมาณ 6,613 ล้านบาท ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมมาได้ 39.91 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท และมีคนจีนมาถึง 10,997,338 ล้านคน
 
แต่ขณะที่ในปี 2566 ได้รับงบประมาณเพียง 3,258 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 28 ล้านคน สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งงบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจึงลดไปตามที่คาดการณ์
 
ส่วนในงบประมาณ 2567 ททท.ได้รับจัดสรรงบประมาณ 5,200 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าทางรัฐบาลจะตัดงบประมาณลงอีกเท่าไหร่ เพราะภายใต้งบประมาณดังกล่าว มีเป้าหมายในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.5 ล้านล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน ตั้งเป้าสร้างรายได้ไว้ที่ 2.5 ล้านล้านบาท แต่ทางรัฐบาลต้องการให้เพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวให้ทะลุ 40 ล้านคนให้ได้
 
ความคาดหวังนี้จึงตกเป็นความท้าทายของการท่องเที่ยวไทยที่จะต้องเสนอแผนในการดึงนักท่องเที่ยวภายในปีนี้

  4  

กลยุทธ์ฟรีวีซ่าสำคัญอย่างไร?

โดยก่อนหน้านั้นทางรัฐต้องการยกระดับการท่องเที่ยวมากขึ้น จึงเปิดฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถา โดยให้อยู่ในประเทศไทยได้ไม่เกิน 30 วัน  ซึ่งนโยบายนี้นั้นเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 เป็นระยะเวลา 5 เดือน เพื่อหวังให้ดึงคนจีนมาเที่ยวมากยิ่งขึ้น
 
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พูดถึงประเด็นฟรีวีซ่าว่า
 
‘มาตรการฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีนของรัฐบาล จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 500,000-700,000 คน
 
โดยจำนวนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยปี 2566 รวมกว่า 4.2 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 ล้านคน
 
ส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนนี้ จะส่งผลดีต่อการฟื้นฟูการท่องเที่ยว และภาคเศรษฐกิจของประเทศได้จำนวนมาก “การฟรีวีซ่าถึงมีมีความสำคัญหลายๆ อย่างต่อประเทศไทย”’
 
นั่นหมายความว่าทาง ททท. จะต้องรีบเร่งดึงนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในปี 2567 ให้ตามเป้าที่กำหนดไว้ ดังนั้นจึงตั้งเป้าหมายโดยที่จะใช้ Soft Power ในการสร้าง Meaningful Travel เพื่อฟื้นฟู และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจและดันชาวจีนให้มาท่องเที่ยวที่ไทยเพิ่มขึ้น

  5  

Soft Power และ Meaningful Travel คืออะไร?

Soft Power
คือ อิทธิพลที่เปลี่ยนแปลงทางความคิด และส่งผลต่อทางวัฒนธรรม ไม่ว่าเรื่องการกิน วิถีชีวิต ความเชื่อต่างๆ ทำให้คนทั่วไปที่ไม่เคยสนใจ ได้รู้สึกหันมาสนใจสิ่งนั้นๆ มากขึ้น โดยที่บุคคลนั้นๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปด้วยตัวเอง และไม่มีใครมาบังคับให้ทำ
 
เช่น กรณีของลิซ่า Blackpink ที่เคยสัมภาษณ์ว่าอยากกินลูกชิ้นยืนกินที่จังหวัดบุรีรัมย์ จึงส่งผลให้ลูกชิ้นยืนกินในจังหวัดนั้นกลายเป็นจุดสนใจ และกลายเป็นกระแสให้สังคมอยากตามไปกินทั่วบ้านทั่วเมือง
 
หรือกรณีนักร้องสาวมิลลิ แรปเปอร์สาวไทยชื่อดัง ที่เคยได้แสดงในเวทีใหญ่อย่างโคเชลล่า และได้นำข้าวเหนียวมะม่วงไปกินบนเวที จึงส่งผลให้ไม่ว่าต่างชาติหรือคนในประเทศสนใจมากขึ้น และมีหลายคนรู้สึกอยากไปกินตามๆ กัน เป็นต้น
 
Meaningful Travel
หากแปลตรงตัว นั่นแปลความหมายได้ว่า ‘การท่องเที่ยวที่มีความหมาย’ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับศักยภาพด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รู้สึกถึงประสบการณ์ใหม่ๆ ที่มีความหมายทุกครั้งที่มาเยือน
 
โดยที่อยากให้นักท่องเที่ยวได้รู้สึกร่วม และอินไปกับการสัมผัสการเที่ยวรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเที่ยวในชนบท เที่ยวแบบคนในท้องถิ่น ซึ่งรายได้ส่วนนั้นก็จะต้องเข้ามาช่วยชุมชนไทยได้อีกด้วย

  6  

ทำไม Soft Power ไทยและ Meaningful Travel ถึงสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทยในปี 2567

Soft Power และ Meaningful Travel คือหนึ่งในกลยุทธ์ของ ททท. ที่ต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวจีนให้มาเที่ยวมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงปีใหม่ 2566
 
ซึ่งกลยุทธ์นี้ทางตั้งเป้าแล้วว่าจะต้องเข้ามาช่วยการ “ฟื้นคืน” เศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยมากขึ้นกว่าเดิม โดยจะเน้นให้นักท่องเที่ยวได้ลองสัมผัสกับการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ ผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวอย่าง Soft Power หรือ 5F โดยมีทั้ง Food Festival Film Fight Fashion
 
แน่นอนว่ากลยุทธ์ยังเป็นแผนต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 เพื่อที่ตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะต้องกลับมาครองตลาดการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มากขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยที่ต้องดันยอดให้มากที่สุด หลังจากที่นักท่องเที่ยวจีนลดลงไปอย่างมาก
 
อย่างล่าสุด รัฐบาลเพิ่งจัดทริป “Amazing Festive & Exclusive Trip in Thailand” เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ และต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น โดยที่เชิญอินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนที่มีชื่อเสียงกว่า 93 คน มาเข้าร่วมงานระหว่าง 21 – 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
 
โดยที่ภายในงานจะเป็นการนำเสนอ Soft power อย่างตัวสินค้าและสถานที่ท่องเที่ยวหลายๆ แห่งของจังหวัดต่างๆ เพื่อให้พวกเขารู้สึกถึงกิจกรรม วัฒนธรรม และของดีในสถานที่อื่นๆ นอกจากกรุงเทพฯ มากขึ้น เช่น พัทยา, หัวหิน, เชียงใหม่, พังงา, จันทบุรี และเกาะหมาก
 
และด้วยความที่พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่เปลี่ยนแปลงหลังจากการชะลอตัวเศรษฐกิจ นี่อาจเป็นจุดที่สามารถโน้มน้าวใจนักท่องเที่ยวจีนได้มากทีเดียว เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศจีน ส่งผลให้ชาวจีนที่มาเที่ยวหลังจากนี้น่าจะต้องประหยัด และระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น
 
ดังนั้นการที่นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัสกับสถานที่ใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากห้าง หรือศูนย์การค้าใจกลางเมืองต่างๆ ก็อาจจะหันไปสนใจที่เที่ยวง่ายๆ หรือตามพื้นที่ท้องถิ่นต่างๆ มากขึ้น และนี่จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวรู้สึกถึง ‘ความหมายของการไปเที่ยวที่แท้จริง’ ว่าประเทศไทยยังคงมีอีกหลายๆ สถานที่ที่ทำให้รู้สึกถึงความสบายใจ สงบ และปลอดภัยได้ ตามเป้าหมายของกลยุทธ์ Soft power และ Meaningful Travel นั่นเอง

  7  

สรุปส่งท้าย

เพื่อนๆ คิดเห็นยังไงกันบ้างกับการที่ ททท. หวังใช้ soft power สร้าง meaningful Travel ดึงคนจีนมาเที่ยวมากขึ้นในปีนี้?
 
แต่เชื่อว่าในปี 2567 น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนในการช่วยกระตุ้นนักท่องเที่ยวจีนที่สำคัญ เพราะเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐาก็ได้ประกาศเรื่องน่ายินดีว่า ตั้งแต่ 1 มี.ค 67 เป็นต้นไป คนไทยจะสามารถฟรีวีซ่าไปประเทศจีนได้อย่างถาวร รวมถึงชาวจีนจะสามารถฟรีวีซ่ามาไทยได้อย่างถาวรเช่นกัน
 
ไม่แน่ว่าอาจทำให้เกิดผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ เพราะถือว่าเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั้งไทยและจีน เพราะการที่ประเทศจีนจะสามารถฟรีวีซ่าถาวรให้กับประเทศใดประเทศนึงนั้นเกิดขึ้นค่อนข้างยากมากจริงๆ
 
ก็นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีของคนไทยที่อยากไปเที่ยวประเทศจีนมากยิ่งขึ้น และไม่แน่ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเข้ามาช่วยให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ และเศรษฐกิจระหว่างประเทศอีกด้วย
 
แต่ก็ยังเชื่อว่ามีอีกหลายๆ คนที่แอบกังวลว่าหากประเทศจีนเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น จะดีต่อประเทศไทยจริงๆ เหรอ ก็คงต้องดูกันว่าเมื่อฟรีวีซ่าไปแล้วจะเกิดอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง และ Soft power กับ Meaningful Travel จะช่วยในการดึงท่องเที่ยวได้มากขึ้นจริงไหมต้องติดตามกันต่อไป