ถ้าให้นึกถึงประเทศที่โดดเด่นด้านขนส่งทางเรือ จนได้กลายเป็นเมืองท่าสำคัญที่อุ้มชูให้เศรษฐกิจในประเทศเจริญรุ่งเรืองในโซนอาเซียนและระดับโลก ก็คงไม่มีใครไม่รู้ว่า มันคือ ‘ประเทศสิงคโปร์’ เพราะนี่เรียกได้ว่าเป็นรายได้หลักเข้าประเทศเลยก็ว่าได้ แล้วเคยนึกบ้างไหม หากสักวันหนึ่งเกิดการแบ่งเค้กในส่วนนี้จากประเทศอื่นขึ้นมาบ้าง จะเกิดอะไรขึ้น? นี่เป็นข้อสงสัยที่น่าสนใจมากทีเดียว

และประเทศอื่นที่ว่านั่นก็คือ ‘ประเทศไทย’ กับโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ ที่แน่นอนว่านี้ไม่ได้เป็นโครงการที่พึ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่นี้ถือเป็นไอเดียยาวนานที่โดนขายฝันมากว่า 40 ปี จนถึงช่วงที่ ‘พลเอกประยุทธ์’ อดีตนายกได้ขุดโครงการนี้ขึ้นมาผลักดันอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ทันได้เห็นอย่างชัดเจน จนกระทั่ง ‘ยุคของนายกเศรษฐา’ ที่เล็งเห็นมูลค่านี้เช่นกัน จึงสานต่อโครงการ เมกะโปรเจกต์ ‘แลนด์บริดจ์’ อีกครั้ง ซึ่งหากสำเร็จ คาดว่าจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น ‘Hub ศูนย์กลางการขนส่งสินค้า รองรับเรือสินค้ามากกว่า 400,000 ลำได้’ เรียกได้ว่าอาจเป็นประตูสู่ทางเชื่อมของทั่วทั้งโลกในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่สะดวกมากขึ้น

  1  

โครงการแลนด์บริดจ์คืออะไร

แลนด์บริดจ์ (Landbridge) เป็นสะพานเชื่อมต่อ ซึ่งไม่ได้หมายถึงสะพานเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงถนน คลอง ซึ่งเราสามารถตีความหมายได้เหมือนกัน โดยจุดหมายของสะพานนี้คือเชื่อมโยงจุดนึงไปอีกจุดนึง เพื่อส่งต่อสินค้า อุปโภค-บริโภคไปยังประเทศอื่นๆ

หากแลนด์บริดจ์ทำให้เรือขนส่งสินค้าของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งมหาสมุทรอินเดียหรือมหาสมุทรแปซิฟิก สามารถนำสินค้ามาส่งมอบไว้ที่ประเทศไทย เราก็จะกลายเป็นศูนย์กระจายสินค้าระดับโลกอีกแห่งที่สินค้าเหล่านั้นจะได้รับการกระจายโดยมีไทยเป็นจุดศูนย์กลาง

แล้วทำไม ‘การค้าทางเรือ’ ถึงสำคัญมาก เพราะ ‘เรือ‘ คือการขนส่งหลักมากถึง 80% ของโลก จากการรายงานของ unctad.org ด้วยความที่การขนส่งทางทะเลถือว่า ต้นทุนต่ำ ขนส่งได้หลากหลาย และทั่วถึง จึงทำให้หลายๆ ประเทศนิยมกันมากที่สุด

  2  

ว่าด้วยเรื่องช่องแคบมะละกา

ต้องย้อนก่อนว่า เส้นทางการเดินเรือหลักของประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกานั้น ล้วนต้องผ่านช่องแคบมะละกาทั้งสิ้น ซึ่งช่องแคบมะละกานั้นอยู่ระหว่างเกาะของมาเลเซียและเกาะอินโดนีเซีย ด้วยความที่สิงคโปร์ เป็นเมืองท่าใหญ่ เมื่อประเทศใดก็ตามต้องผ่านช่องแคบนั่นหมายความว่า จะต้องตรงถึงสิงคโปร์

ด้วยความที่เส้นทางนี้เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก สินค้ากว่า 40% ที่นำเข้าทั่วโลก โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจึงต้องผ่านช่องแคบมะละกานี้ไปด้วย ช่องแคบมะละกาจึงเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของโลกในการส่งมอบปิโตรเลียมทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ไม่แปลกว่าทำไมสิงคโปร์ถึงกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญ และมีรายได้มหาศาลเข้าประเทศในทุกวันนี้

และด้วยความที่จำนวนขนส่งมากขนาดนี้ ผลกระทบที่ตามมาคือเกิดการแออัดในการเดินเรือขนส่ง เพราะตู้ขนมียอดในแต่ละปี โดยรวมกว่า 70.4 ล้านตู้ต่อปี และมีเรือผ่านช่องแคบมะละกากว่า 90,000 ลำต่อปี ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ช่องแคบมะละกามักมีปัญหาอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งที่ล่าช้า แถมระยะทางที่ต้องผ่านนั้นต้องอ้อมและไกลมากขึ้น จึงต้องใช้ค่าใช้จ่ายด้านการเดินเรือที่สูงขึ้น จึงเป็นปัญหาด้านการขนส่งอย่างมาก

เพราะเหตุนี้เอง ถ้าหาก ’โครงการแลนด์บริดจ์’ สำเร็จ ประเทศอื่นๆ ก็จะหันมาขนส่งกับประเทศไทยมากขึ้น และคาดว่าจะทำให้เส้นทางการเดินเรือรวดเร็ว ทดแทนในส่วนของช่องแคบมะละกา และที่แน่ๆ ส่งผลกระทบต่อประเทศสิงค์โปร์อย่างแน่นอน

  3  

โครงการแลนด์บริดจ์ทำไมถึงเริ่มน่าสนใจ?

ซึ่งสำหรับโครงการ แลนด์บริดจ์ ถือเป็น จุดเปลี่ยนขนาดใหญ่ของประเทศไทย เพราะจะเป็นหนึ่งในเส้นทางคมนาคมของการค้าขายของภาคใต้ ที่จะเชื่อมระหว่างจังหวัดชุมพร ฝั่งทะเลอ่าวไทย กับจังหวัดระนอง ทะเลฝั่งอันดามัน โดยที่ท่าเรือทั้งสองจะเชื่อมเส้นทางขนส่งระหว่างกัน นั่นจึงช่วยลดเวลาขนส่ง จากที่ต้องอ้อมไปยังช่องแคบมะละกา แต่สามารถมายังประเทศไทยและขนส่งบนทางบกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะง่ายต่อการขนส่งให้ฝั่งอาเซียน โซนทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกามากขึ้น

สำหรับโครงการนี้แน่นอนว่าเส้นทางขนส่งทางบกจะประกอบไปด้วย ถนนมอเตอร์เวย์ 6 ช่องจราจร ท่อขนส่งน้ำมัน พร้อมกับเชื่อมต่อกับแนวเส้นของรถไฟ เป็นระยะทางยาวกว่า 90 กิโลเมตร เพื่อง่ายต่อการขนส่งได้อย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาท! โดยโครงการนี้คาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการในปี 2573

  4  

มูลค่า 1 ล้านล้านบาทมีอะไรบ้าง?

การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก แบ่งเป็น
– ท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท
– ท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท
– การพัฒนาพื้นที่ เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 1.4 แสนล้านบาท
– การสร้างระบบการขนส่ง 2.2 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วย ทางหลวงระหว่างเมือง 6 ช่อง, ทางรถไฟเชื่อมต่อโครงข่ายหลัก และทางรถไฟเชื่อม 2 ท่าเรือ

  5  

ข้อดี ข้อเสีย โครงการแลนด์บริดจ์

ข้อดี

  • ประเทศไทยจะได้เปรียบเส้นขนส่งทางเดินเรือใหม่
  • ดันประเทศไทยให้กลายเป็น hub ศูนย์กลาง เทียบชั้บสิงคโปร์
  • ได้รายได้และภาษีจากการเป็นเมืองท่า
  • ลดเวลาขนส่งจากทะเลไทย จาก 9 วัน เป็น 4- 5 วัน
  • ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ ให้โตขึ้นต่อเนื่อง
  • เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว
  • เกิดการจ้างงานทะลุ 2.8 แสนคน
  • คาดการณ์ว่าจะช่วยให้ GPD ของประเทศไทยขึ้นเป็น 5.5% ต่อปี

ข้อเสีย

  • ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เพราะพื้นที่บริเวณดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการขึ้นเป็นทะเบียนมรดกโลก แต่หากได้รับการพัฒนาจริงๆ อาจจะหลุดจากการสบันสนุนของ unesco ได้
  • ส่งผลต่อการท่องเที่ยวในจังหวัดนั้น
  • ส่งผลต่อสัตว์ทะเลอาจลดน้อยลง
  • ส่งผลกระทบต่อป่าชายเลน แหล่งเก็บคาร์บอนที่มากที่สุด
  • ปัญหาน้ำมันรั่วไหลทางทะเล
  • ผลกระทบของชาวบ้านระแวกนั้น

  6  

มุมมองหลากหลายฝ่าย

มุมมองนายกเศรษฐา
“โครงการ Landbridge จะกลายเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งทางเรือเส้นใหม่ของโลก แก้ไขปัญหาการจราจรผ่านช่องแคบมะละกาที่ถูกกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า การขนส่งสินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดเวลาการเดินทางโดยรวมได้ 4 วัน และลดต้นทุนโดยเฉลี่ยได้ถึง 15% ซึ่งในอนาคตจะยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการผลิตและการขนส่งสู่ตลาดโลก”

—————

มุมมองสิงคโปร์
รักษาการณ์รัฐมนตรีคมนาคมสิงคโปร์ กล่าวว่า สำหรับสิงคโปร์โครงการแลนด์บริดจ์อาจช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าราว 2-3 วันได้จริง แต่เรือขนสินค้าอาจจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และอาจลดเวลาได้ไม่มากนัก เพราะยังมีอีกหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรือสินค้าที่อาจจะต้องเสียเวลาในการโหลดสินค้าขึ้นจากท่าเรือฝั่งหนึ่ง เพื่อขนไปยังรถบรรทุกหรือรถไฟขนส่งไปยังท่าเรืออีกฝั่งหนึ่ง จากนั้นจึงค่อยเข้าสู่ ‘กระบวนการโหลดสินค้าลงสู่เรือ’ เพื่อเดินทางต่อ ซึ่งมันดูหลายกระบวนการมากๆ

นั่นหมายความว่าระหว่างกระบวนการดังกล่าว อาจส่งผลให้บริษัทขนส่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ช่องโหว่นี้เองที่อาจทำให้เกิดการเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย ระหว่างการแล่นเรืออ้อมช่องแคบมะละกาของสิงคโปร์ และการใช้แลนด์บริดจ์ของไทยว่า ไปทางไหนคุ้มกว่ากัน‘

—————

มุมมองประชาชน
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ มีประชาชนส่วนมากที่ต่างเห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะมองว่า เป็นผลประโยชน์ที่ประเทศควรจะได้รับและพัฒนาเสียที เพราะปกติสินค้าจากไทยจะไปยุโรป อเมริกา ตะวันออกจะต้องอ้อมไปเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์ 2-3 วัน และบางทีอาจต้องรอเรือแม่มารับของทอดนึง ซึ่งการที่มีแลนด์บริดจ์เข้ามา จะทำให้ธุรกิจไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้ง่าย เเละรวดเร็วขึ้น ในราคาที่ถูกลง

รวมถึงหากเศรษฐกิจดีขึ้น GPD สูงขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ 5.5% จะส่งผลให้คืนทุนประเทศได้ไวยิ่งขึ้น เพราะประเทศไทยล่าสุดมีหนี้สูงถึง 11 ล้านกว่าบาทเลยทีเดียว ดังนั้นหากได้เงินใช้หนี้ และมีงบประมาณในการพัฒนาบ้านเมืองที่เพิ่มมากขึ้น นั่นเท่ากับว่า ประชาชน จะมีรายได้ และคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้น

แต่ผลเสียแน่นอนว่าก็มีเช่นกัน เพราะต้องหาวิธีเยียวยาชาวบ้านระแวกนั้น และไหนจะเรื่องของสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่อาจต้องแลกมาด้วยการสูญเสียแหล่งคาร์บอนอย่างป่าชายเลน รวมถึงสถานที่ธรรมชาติ สัตว์น้ำที่สำคัญไป และนั่นอาจส่งผลให้สิ่งแวดล้อมระแวกนั้น หลุดจากการเป็นมรดกโลก

แน่นอนว่ารัฐบาลไม่รอช้าที่จะนำ สนข. ลงพื้นที่ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการ โดยที่เปิดประชุมสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ในจังหวัดระนองเพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการนี้เพิ่มเติม

  7  

โปรเจ็กต์แลนด์บริดจ์กับอนาคตที่ไม่มีใครรู้

มาถึงตอนนี้เพื่อนๆ คิดว่ายังไงกับโครงการนี้บ้าง? ประเทศไทยจะสามารถดำเนินโครงการนี้ได้สำเร็จหรือไม่? ก็คงต้องรอติดตามกันต่อไปว่าจะมีประเทศไหน หรือนักลงทุนไหนมาร่วมลงทุนบ้าง แต่สำหรับหลายๆ คน คาดว่าโครงการนี้อาจได้กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศไดัมากเลยทีเดียว

ข้อมูลอ้างอิง