“ทำไมถึงต้องทำโรดแมป AOT เพื่อพัฒนาท่าอากาศยานกว่า 11 แห่งในประเทศไทย?”
 
ถ้าพูดถึงการท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกระหว่างประเทศ แน่นอนว่าหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกสบายและเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเดินทางไปในประเทศหรือจังหวัดต่าง ๆ คงหนีไม่พ้น “การเดินทางด้วยเครื่องบิน” ซึ่งหลังจากเหตุการณ์โควิด 19 จะเห็นได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางทั้งเข้าและออกประเทศลดลงเป็นอย่างมาก
 
จนกระทั่ง เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โควิด 19 เป็นเพียงโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ทำให้ประชาชนและชาวต่างชาติตัดสินใจกลับมาท่องเที่ยวกันมากขึ้นอีกครั้ง แม้จำนวนผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว ยังคงมีไม่มากเท่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่การท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง
 
ด้วยเหตุนี้ทาง “ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. (AOT) จึงได้เล็งเห็นโอกาสที่จะพัฒนาสนามบินเก่า และสร้างสนามบินใหม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ให้มีศักยภาพยิ่งกว่าเดิม
 
ลองคิดง่าย ๆ ว่าถ้าสนามบินได้มีการขยายเพิ่มเติมในส่วนต่าง ๆ ก็จะยิ่งช่วยทำให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น และนั่นหมายความว่าการท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกระหว่างประเทศ ก็จะมีนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวดีมากขึ้นตามมาในลำดับนั่นเอง
 

1

เจาะลึกปัจจัยหลักในการตัดสินใจริเริ่มโครงการ

ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการใหญ่จาก AOT ที่มองว่าในปลายปี 66 จะมีจำนวนผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักเท่ากับช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์โควิด 19 อีกทั้งยังมีโอกาสที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะเติบโตเพิ่มขึ้นถึงกว่า 142 ล้านคนในปี 67 เป็นต้นไป
 
จึงตั้งใจริเริ่มสร้างแผนโรดแมปที่จะขยายสนามบินต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัด ให้พร้อมรองรับจำนวนผู้โดยสารกว่า 200 ล้านคนภายในปี 70 นี้
 
ดังนั้น แผนเส้นทางการพัฒนาสนามบินที่ได้วางไว้ หรือที่เรียกง่าย ๆ คือ ‘โรดแมป’ จึงได้เริ่มโครงการไปตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน ปี 66 ที่ผ่านมา
 
ด้วยจุดประสงค์หลักที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ในการให้บริการผู้โดยสาร รวมไปถึงการเพิ่ม Facilities ต่าง ๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกสบายดีมากยิ่งขึ้น โดยในตอนแรก ทาง AOT ได้เตรียมแผนการพัฒนาไว้เพียง 6 สนามบินเท่านั้น
 
แต่ต่อมาก็มีแผนที่จะสร้างสนามบินเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งอย่าง “ท่าอากาศยานล้านนา”และ “สนามบินนานาชาติอันดามัน”
 
ภายหลังสุด ทาง AOT ก็ยังมีอีก 3 สนามบินที่ได้รับโอนมาจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) อันได้แก่ สนามบินอุดรานี, สนามบินบุรีรัมย์, สนามบินกระบี่ ให้มาเข้าร่วมแผนพัฒนาสนามบินนี้ด้วยกัน ซึ่งเมื่อรวมทั้งหมดแล้ว จึงนับได้เป็น 11 แห่งนั่นเอง

  2  

ข้อดี ข้อเสียของโรดแมป AOT

ข้อดีของโรดแมป AOT
  • รองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่เดินทางทั้งภายในและภายนอกประเทศได้มากขึ้น
  • การประกาศเดินหน้าทำโปรเจ็กต์นี้ ทำให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทย
  • กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้พุ่งสูงขึ้น
  • การพัฒนา Facilities หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในสนามบินให้มีคุณภาพ ถือเป็นการสร้างเสริมความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย
ข้อเสียของโรดแมป AOT
  • งบประมาณที่ใช้จำนวนมาก หากมีการเบิกงบเพิ่มอาจจะเกิดปัญหาให้เป็นประเด็นได้ง่าย
  • มีโอกาสที่จะทำให้สนามบินอื่นร้าง หรือมีการใช้งานที่น้อยลง
  • ใช้ระยะเวลาในการทำโรดแมปนาน หากมีการยืดเวลาต่อไปอีกอาจทำให้การใช้งานของสนามบินทั้ง 11 แห่งเกิดการติดขัดในดารให้บริการ

  3  

ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ผลลัพธ์แบบไหนที่เราจะได้เห็น?

แน่นอนว่าโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่พร้อมงบประมาณเกือบ 4 แสนล้านบาท ย่อมต้องมีความเสี่ยงสูงเป็นธรรมดา จึงเกิดคำถามที่ตามมาคือ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าโรดแมปนี้ประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวกันแน่?
 
เราจึงควรมองไปที่เป้าหมายของโปรเจ็กต์โรดแมป AOT นี้ นั่นคือการขยายท่าอากาศยานเพื่อรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคาดการณ์ ถึงจำนวนผู้โดยสารจะมาท่องเที่ยวมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ในส่วนของคำตอบ ที่จะบอกเราได้ว่าโปรเจ็กต์นี้ประสบความสำเร็จหรือไม่ คือจำนวนเป้าหมายของผู้โดยสารที่ทาง AOT ได้ตั้งไว้เป็น Goal (เป้าหมาย)
 
เช่น สนามบินสุวรรณภูมิที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องการขยายพื้นที่รองรับผู้โดยสารให้ได้ถึง 65 ล้านคนต่อปี (จากปัจจุบัน 50 ล้านต่อปี) ซึ่งหากผลลัพธ์ออกมาว่ามีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางมายังสนามบินสุวรรณภูมิจริง ๆ และใช้บริการสนามบินมากกว่าหรือใกล้เคียงจำนวน 65 ล้านคนต่อปี ก็ถือว่าโปรเจ็กต์นี้ประสบความสำเร็จนั่นเอง

  4  

ความกังวลของประชาชนที่มีต่อโปรเจกต์นี้

ในมุมมองของประชาชนบางส่วนนั้น หลังจากที่ได้ยินข่าวโรดแมปของ AOT ก็ได้มีการแสดงความเห็นกันอย่างมากมาย
 
บ้างก็มีความกังวลว่าการขยายสนามบินเก่าและเปิดสนามบินแห่งใหม่จะช่วยตอบโจทย์ของผู้โดยสารได้จริง ๆ หรือไม่ เพราะหากเกิดปัญหาสนามบินร้างอย่างกรณี ที่เคยเกิดขึ้นกับ สนามบินโคราช หรือสนามบินแพร่ จะทำอย่างไร?
 
ซึ่งในส่วนนี้ทางผู้อำนวยการใหญ่ AOT ได้กล่าวคาดการณ์ไว้ดังนี้ จากปัญหาวิกฤตการณ์โควิด 19 ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงปี 2562 ทำให้จำนวนของผู้โดยสารที่ท่องเที่ยวทั้งภายนอก และภายในประเทศซบเซาลงเป็นอย่างมาก
 
แต่ในปี 2567 นี้ อัตราการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง และมีจำนวนผู้โดยสารใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด (ประมาณ 65 ล้านคน) และจะไต่ระดับมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง 70 ล้านคนในปี 2570 เลยทีเดียว
 
และอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ทาง AOT ได้ตัดสินใจสร้างสนามบินใหม่ขึ้นมาอีก 2 แห่ง (สนามบินล้านนา, สนามบินอันดามัน) เพราะถึงจะมีสนามบินหลายแห่งพร้อมรองรับผู้โดยสารก็ตาม แต่อันเนื่องมาจากปัญหาความแออัดในตัวอาคาร และพื้นที่รันเวย์ที่มีจำกัดของสนามบินขนาดเล็กโดยเฉพาะสนามบินเชียงใหม่ และสนามบินภูเก็ตทำให้ไม่สามารถขยายพื้นที่ได้อย่างที่ควร

  5  

เผยเส้นทางโรดแมป AOT ทั้ง 11 สนามบินด้วยงบกว่า 3.6 แสนล้าน

AOT พร้อมทุ่มงบกว่า 3.6 แสนล้านบาท เพื่อขยายและพัฒนาทั้ง 11 สนามบินให้รองรับผู้โดยสารในส่วนต่าง ๆ ได้มากกว่าเดิม ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
 
  • สนามบินปัจจุบัน 6 แห่ง (รวมทั้งสิ้น 2 แสนล้านบาท)
    • สนามบินสุวรรณภูมิ
    • สนามบินดอนเมือง
    • สนามบินเชียงใหม่
    • สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย
    • สนามบินภูเก็ต
    • สนามบินหาดใหญ่
  • แผนในการสร้างสนามบินใหม่ 2 แห่ง (รวมทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท)
    • ท่าอากาศยานล้านนา (7 หมื่นล้านบาท)
    • ท่าอากาศยานนานาชาติ (8 หมื่นล้านบาท)
  • แผนพัฒนาสนามบินที่รับโอนมาจากกรมท่าอากาศยาน 3 แห่ง (รวมทั้งสิ้น 1.03 หมื่นล้านบาท)
    • สนามบินอุดรธานี (3.5 พันล้านบาท)
    • สนามบินกระบี่ (6.4 พันล้านบาท)
    • สนามบินบุรีรัมย์ (4.6 ร้อยล้านบาท)

  6  

แผนพัฒนา 6 สนามบินที่ปัจจุบันอยู่ในเครือ AOT

✈ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิที่ในปัจจุบันสามารถรองรับได้ 50 ล้านคนต่อปี ก็มีการวางแผนที่จะขยายพัฒนาให้รองรับได้สูงสุดถึง 150 ล้านคนต่อปี โดยล่าสุดได้เปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เพื่อเพิ่มพื้นที่กว่า 2 แสนตารางเมตร
 
นอกจากนี้ยังมีการเตรียมเปิดรันเวย์ 3 ในเดือนกรกฎาคม เพื่อให้รองรับเที่ยวบินได้เพิ่มมากขึ้นอีกกว่า 40% ของจำนวนเที่ยวบินในปัจจุบัน
 
อีกทั้งยังมีแพลนในอนาคต ที่จะพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออกและเปิดรันเวย์ที่ 4 ในส่วนของอาคารทิศตะวันตกเพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
 
—————————
 
ท่าอากาศยานดอนเมือง
ในส่วนของสนามบินดอนเมืองนั้น มีการวางแผนที่จะเปลี่ยนอาคาร Domestic (อาคารเที่ยวบินภายในประเทศ) ให้เป็น International Terminal (อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ) หลังใหม่
 
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงเพื่อเชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสาร 1 และ 2 เพื่อให้พร้อมรองรับอัตราการใช้บริการเที่ยวบินภายในประเทศที่สูงมากของสนามบิน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเปิดให้ประมูลในช่วงปลายปี 2567
 
—————————
 
ท่าอากาศยานเชียงใหม่
สำหรับสนามบินเชียงใหม่ AOT มีแผนการพัฒนาที่จะสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้พร้อมรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ
 
และทำให้สนามบินเชียงใหม่กลายเป็นอีกหนึ่งสนามบิน International Gateway หรือเรียกได้ว่าเป็นท่าอากาศหลักของประเทศไทยที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศให้มากขึ้นกว่าเดิม
 
—————————
 
ท่าอากาศยานภูเก็ต
สนามบินภูเก็ตนั้น มีแพลนจะขยายอาคารผู้โดยสารที่ปัจจุบันรองรับได้ 12 ล้านคนต่อปี ให้เพิ่มไปถึง 18 ล้านคนต่อปี
 
—————————
 
ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย
สนามบินเชียงรายเป็นอีกแห่ง ที่มีแผนขยายสนามบินโดยการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่ม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการรองรับผู้โดยสารให้ถึง 8 ล้านคนต่อปี (จากเดิมเพียง 3 ล้านคนต่อปีเท่านั้น)
 
—————————
 
ท่าอากาศยานหาดใหญ่
ในส่วนของสนามบินหาดใหญ่ ก็มีแผนที่เพิ่มโถงพักคอยผู้โดยสาร และอาคารผู้โดยสาร แต่ทั้งหมดนี้ยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแผนแม่บท

  7  

สร้าง 2 สนามบินใหญ่และยกระดับอีก 3 สนามบินที่โอนรับต่อจากทย.

ด้วยความที่สนามบินเชียงใหม่และสนามบินภูเก็ตมีข้อจำกัด คือมีรันเวย์เพียงแค่สนามละที่เดียว AOT จึงมีแผนในการสร้างสนามบินที่มี 2 รันเวย์ขึ้นมา อย่าง ”ท่าอากาศยานล้านนา” และ “สนามบินนานาชาติอันดามัน” ซึ่งจะช่วยให้รองรับผู้โดยสารได้มากถึง 21 ล้านคนต่อปี และ 22.5 ล้านคนต่อปีตามลำดับ
 
———————-
 
และหลังจากที่ AOT ได้รับสิทธิบริการจัดการ 3 สนามบินที่โอนจากทางกรมท่าอากาศยานไทยมา ก็มีวางแผนลงทุนเป็นจำนวนกว่า 1.03 หมื่นล้าน เพื่อเพิ่มศักยภาพทั้ง 3 สนามบิน ให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นไปอีกได้แก่
 
สนามบินอุดรธานี ที่ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้ 3.4 ล้านคนต่อปี ให้เพิ่มเป็น 6.5 ล้านคนต่อปี
 
สนามบินบุรีรัมย์ ที่ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้ 7.8 แสนคนต่อปี ให้เพิ่มเป็น 2.8 ล้านคนต่อปี
 
สนามบินกระบี่ ที่ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้ 4 ล้านคนต่อปี ให้เพิ่มเป็น 12 ล้านคนต่อปี

  8  

สรุปส่งท้าย

แล้วสำหรับเพื่อน ๆ มีมุมมองยังไงกันบ้างกับโรดแมป AOT ที่ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3.6 แสนล้านบาท คิดว่าโครงการนี้ตอบโจทย์สำหรับการผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวในประเทศไทยมากแค่ไหน?
 
อย่างไรก็ตามสำหรับแผนการโรดแมป AOT ที่พัฒนาสนามบินทั้ง 11 แห่ง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ สำหรับเศรษฐกิจในประเทศ และการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่เพื่อน ๆ ทุกคนต้องจับตามองเลยทีเดียว
 
ข้อมูลอ้างอิง
RYT9