เคยสังเกตไหมว่าเวลาไปเที่ยวประเทศไหน เขาก็มักจะมีกระเช้าลอยฟ้ากันสักแห่งในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม พม่า ญี่ปุ่น เกาหลี จีน หรือประเทศอื่นๆ อีกมากมาย แม้แต่ประเทศไทยที่พึ่งสร้างในจังหวัดสงขลา หรือหาดใหญ่ไปเมื่อปี 2563
แต่ทำไม ‘โครงการกระเช้าภูกระดึง’ ในจังหวัดเลย ถึงถูกพับหายไปเป็น 27 ปี ทั้งๆ ที่ภูกระดึงเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่ไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาติก็ต่างรู้จักชื่อเสียงกันดี และนับว่าสถานที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายในชีวิตที่หลายคนอยากพิชิตกันอย่างมาก ตามป้ายหน้าทางขึ้นที่เขียนเลยว่า ‘ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง’ แล้วอะไรที่ทำให้โครงการนี้กินเวลานานหลายปี ไปดูกันนนน
1
ทำไมกระเช้าภูกระดึง ถึงต้องใช้เวลานานกว่า 27 ปี
1. ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2539 ช่วงที่อดีตนายกคนที่ 21 อย่างบรรหาร ศิลปอาชา มีความคิดริเริ่มที่อยากปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อย่างภูกระดึง และภูเก็ต จึงคิดว่า ‘กระเช้าไฟฟ้า’ นี่แหละที่น่าจะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น
2. ต่อมาไม่ทันได้สานต่อ ก็เข้าสู่รัฐบาลใหม่ของนายกฯ คนที่ 22 อย่าง พล.อ ชวลิต ยงใจยุทธ แต่ในช่วงนั้นเกิดปัญหาทางการเมือง และหลายๆ หน่วยงาน มองว่ากระเช้าไฟฟ้าอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนได้ จึงยังไม่ได้ดำเนินโครงการต่อ
3. จนกระทั่งเข้าสู่ 2547 รัฐบาลของนายกฯ ทักษิณ ก็มีคำสั่งให้ศึกษาการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นมาอีกครั้ง โดยที่ต้องหาแนวทางไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสป่าและเห็นสัตว์ป่าจากด้านบนได้ แต่ก็ไม่ทันได้เข้าสู่กระบวนการ เพราะในปีนั้นเกิดปัญหาเรื่องรัฐประหาร จึงต้องหยุดโครงการนี้ไป
4. เวลาผ่านไป ปี 2555 นายกหญิงคนแรกอย่าง นส. ยิ่งลักษณ์ ก็ดันโครงการนี้กลับมาอีกครั้ง จนในปี 2557 นายกหญิงก็สามารถศึกษาความเป็นไปได้ และคาดว่าจะใช้งบประมาณจัดสรรจำนวน 23 ล้านบาท
5. แต่ไม่ทันได้เริ่มเช่นเดียวกัน โครงการนี้ก็ถูกพับไปอีกครั้งในปี 2559 เพราะเกิดรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อย่างอดีตนายกฯ พล.อ ประยุทธ์ แต่ถึงจะถูกหยิบยกมานำเสนออีกครั้งช่วงรัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าทางรัฐหรือหน่วยงานจะมาสานต่อ โครงการนี้จึงเงียบอีกครั้ง
6. จนกระทั่งปี 2566 ยุคของนายกเศรษฐาคนปัจจุบัน โดยระหว่างนั้นได้มีการเปิดประชุมเสนอครม. สัญจร นอกสถานที่ ซึ่งคนในจังหวัดเลย จึงนำเรื่องกระเช้าภูกระดึงออกมานำเสนออีกครั้ง ซึ่งรัฐมนตรีหญิง พวงเพชร เห็่นด้วยและแนะว่าให้พิจารณาโครงการนี้ขึ้นอีกครั้ง และนี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญเพราะสามารถปลุกประแส เรื่องโครงการกระเช้าไฟฟ้าจนหลายคนให้ความสนใจกันอย่างมาก และขอเสนอกับทางรัฐบาลอีกครั้ง ด้วยการนำเสนองบประมาณ 28 ล้านบาท
2
ทำไมถึงต้องสร้างกระเช้าไฟฟ้า?
ก่อนเข้าประเด็นว่าทำไมถึงต้องสร้าง เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า ภูกระดึงเขามีอะไรดี ทำไมนักท่องเที่ยวถึงชอบกันนักกันหนา และทำไมรัฐบาลถึงอยากพัฒนาที่นี่
ภูกระดึง ถือเป็นพื้นที่อุทยานที่สำคัญของไทย โดยที่นี่ตั้งอยู่ในตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย นับเป็นอุทยานขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ และที่นี่ยังนับว่าติดลิสต์สำหรับนักท่องเที่ยวสายเดินป่าระดับประเทศเลยทีเดียว
และเสน่ห์ของภูกระดึงที่ใครต่างก็ขนขวาย ก็คือการที่ได้เดินปีนเขาและรับชมธรรมชาติระหว่างเดินขึ้นไปพร้อมๆ กับหยุดพักในระหว่างทาง ถึงแม้จะใช้ระยะเวลากว่า 4-5 ชั่วโมง ในการเดินด้วยเท้า ด้วยระยะเส้นทางกว่า 7-10 กิโลเมตร แต่สำหรับนักท่องเที่ยว ความเหนื่อยล้านี้เองที่แสดงถึงมนตร์เสน่ห์ที่หลายคนคิดว่าภูกระดึงไม่ควรขาดหายไป ถือว่าเป็นจุดเด่นของภูกระดึงที่สร้างความพึงพอใจต่อนักเดินป่าเป็นอย่างมาก
และสิ่งที่ทำให้การเดินป่าของภูกระดึงแตกต่างจากหลายๆ ที่ ก็เพราะที่นี่มีวิวที่สวยงาม ไม่ว่าจะผานกแอ่น สำหรับชมพระอาทิตย์ตกดิน ไหนจะธารน้ำไหลผ่านตลอดเวลา โดยเฉพาะกับต้นเมเปิ้ลที่อยู่บริเวณน้ำตกถ้ำใหญ่ หากใครมาช่วงปลายปี จะได้พบกับใบเมเปิ้ลที่กำลังเปลี่ยนสีเป็นสีแดง ร่วงโรยตามพื้นเรียกได้ว่าเป็นภาพที่สวยงามมาก ซึ่งเราจะได้เห็นเพียงแค่ 1 ครั้งต่อปีเท่านั้น สำหรับด้านบนก็ยังมีที่พักและมุมกางเต๊นให้สำหรับนักท่องเที่ยวได้รับชมหมอกและพระอาทิตย์ ในยามเช้าอีกด้วย
แต่การที่จะเดินขึ้นไปมาด้วยสัมภาระที่มากอาจจะเหนื่อยกว่าที่คิด ภูกระดึงจึงมีบริการ ‘ลูกหาบ’ ซึ่งจะเป็นบุคคลมากกว่า 300 คน (อดีตเป็น 1,000 คน) คอยช่วยแบกไม้ท่อนยาวสำหรับแบกสัมภาระโดยเฉพาะ โดยยิ่งน้ำหนักและจำนวนกระเป๋ามากเท่าไหร่ นั่นหมายความว่านั่นจะเป็นรายได้หลักที่ลูกหาบทุกคนจะได้รับ ซึ่งอัตราบริการจะอยู่ที่ 30 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งลูกหาบจะต้องเดินขึ้น-ลงซ้ำๆ ก็แอบเหนื่อยแทนได้เลย
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีทุกคนที่รับได้กับการที่เดินไกลมากถึงขนาดนั้น เพราะก็ยังมีข่าวคราวว่ามีคนเดินจนหอบ และหมดสติระหว่างเดินทางก็มี ซึ่งอีกจุดของภูกระดึงที่น่าเป็นห่วงก็คือ หากเกิดเรื่องฉุกเฉินก็อาจจะช่วยเหลือได้ไม่รวดเร็ว เพราะระยะทางนั้นถือว่าไกลมาก รวมถึงเส้นทางที่ชันและคดเคี้ยว การแบกหามจึงต้องใช้เวลาเช่นเดียวกัน
เพราะเหตุนี้ ภูกระดึงจึงเหมาะกับคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น หากเป็นคนเฒ่าคนแก่ ผู้สูงอายุ รวมถึงคนที่มีโรคประจำตัว อาจจะต้องอดสัมผัสกับประสบการณ์เหล่านี้ และดูเหมือนว่าภูกระดึงก็ยังไม่มีการเช็กนักท่องเที่ยวหรือจำกัดบุคคลหรืออายุอย่างจริงจัง ดังนั้นใครที่อยากพิชิตยอดภูกระดึงได้ก็ต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ก่อนที่จะตัดสินใจขึ้นไปด้วย
และเพราะแบบนั้นเอง ‘กระเช้าไฟฟ้า’ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญ สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ มากขึ้น เพราะมีหลายคนที่ยังมีความหวังที่อยากเห็นวิวทองฟ้าของผานกแอ่น หรือใบเมเปิ้ลสีแดงสดสวยกับคนอื่นๆ บ้าง ดังนั้นหากเรามีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นมา ก็จะช่วยให้กลุ่มนักท่องเที่ยวอื่นๆ อย่าง เด็ก คนแก่ ได้เข้าถึงได้มากกว่าเดิม
3
ข้อดีและข้อเสียของกระเช้าไฟฟ้า
ข้อดีของกระเช้าไฟฟ้า
– ช่วยอำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสให้มีนักท่องเที่ยวได้เข้าถึงทุกเพศทุกวัย
– ช่วยให้จังหวัดเลย และบริเวณโดยรอบมีรายได้ที่มากขึ้น เป็นอีกโอกาสสำคัญในการขยายเศรษฐกิจในจังหวัด
– ลดอุบัติเหตุ และดีต่อการใช้ในกรณีฉุกเฉิน หรือมีเหตุการณ์ไม่คาดคิด
– ได้เห็นและรู้สึกถึงมุมมองใหม่ๆ ระหว่างขึ้นกระเช้าไฟฟ้า
– ประหยัดเวลาในการเดินทางมากขึ้น
ข้อเสียของกระเช้าไฟฟ้า
– ใช้งบประมาณสูง แค่การออกแบบก็งบ 28 ล้าน ยังไม่รวมค่าก่อสร้างจริงๆ
– เสี่ยงต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติโดยรอบ
– ผลกระทบต่อรายได้ของลูกหาบ
– ต้องมีแผนรองรับในการหารองรับลูกค้าที่อาจจะมากขึ้นในอนาคต
4
มุมมองหลากหลายฝ่าย
มุมมองนักท่องเที่ยว
‘ควรทำเพราะจะได้สร้างรายได้ ร้านค้าแถวนี้มากขึ้น และคนที่สุขภาพไม่ดีจะได้ไปชมวิวกับเขาบ้าง’
‘ไม่ควรทำ เพราะจะทำให้มนต์เสน่ห์ของการเดินพิชิตภูเขาหายไป’
การซาวน์เสียงของชาวบ้านก็มีความแตกต่างกันออกไปถึงสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งยินดีที่จะมีการสร้าง เพราะถ้าระแวกนี้มีนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น รายได้ของชาวบ้านแถวนี้ก็จะเพิ่มขึ้นตาม
แต่อีกฝั่งหนึ่งก็ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าภูกระดึงเป็นที่เที่ยวอุทยานที่สำคัญ และเสน่ห์ของภูกระดึงก็คือการเดินขึ้นภูเขาพร้อมกับดื่มด่ำกับธรรมาติ นี่จึงเป็นสัญลักษณ์ของภูกระดึงที่หาจากไหนได้ยาก แต่หากสร้างกระเช้าไฟฟ้าทัศนียภาพ และสัตว์ป่า รวมถึงธรรมชาติระแวกนี้ก็อาจหายไปด้วย ซึ่งมีหลายคนบอกว่า หากทำขึ้นมาจริงๆ ก็ถอดป้าย ‘ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง’ ออกไปดีกว่า เพราะมันดูขัดแย้งกันเหลือเกิน
—————————-
มุมมองของคนในพื้นที่
ยังมีอีกมุมมองของชาวบ้าน ที่คิดว่าการมีกระเช้าไฟฟ้า นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินป่าสักเท่าไหร่ เพราะเป็นการสร้างกระเช้า ร่วมกับทางเดิน การที่สร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นมาไม่ได้หมายความนักเดินป่าทุกคนจะไม่สามารถพิชิตด้วยล้ำแข้งของตัวเอง แต่การสร้างกระเช้าไฟฟ้าเป็นเพียงอีกทางเลือกสำหรับคนที่ไม่สะดวกเดินขึ้นไปเท่านั้น แต่หากใครที่ต้องการไปด้วยน้ำแรงของตัวเอง นั่นก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
.
อย่างนายอำเภอภูกระดึง ก็ได้แสดงความคิดเห็นว่าการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ถือเป็นเป้าหมายที่ประชาชนในพื้นที่คาดหวังและรอคอยกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งยืนยันกว่า 99% ที่เป็นคนในพื้นที่รู้สึกเห็นด้วยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้า ลูกหาบ ผู้ให้บริการเช่าเต๊น
.
เพราะปัจจุบันมีจำนวนลูกหาบและคนในพื้นเริ่มมีอายุที่มากยิ่งขึ้น รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงไปทุกปี แม้ว่าชาวภูกระดึงจะเป็นห่วงด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็หวังว่าทางจะหาทางออกที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุดไดสำเร็จ และมีการคาดว่าหากสำเร็จจริงๆ จะสามารถสร้างมูลค่าการท่องเที่ยวให้มีการหมุนเวียนใน อ. ภูกระดึง ไม่น้อยกว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี
5
มีกระเช้าไฟฟ้าไม่ได้หมายความจะช่วยให้สบายมากขึ้น?
อีกประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ นั่นคือการมีกระเช้าไฟฟ้าไม่ได้หมายความจะหายเหนื่อยอยู่ดี เพราะหลายคนให้ความกังวลว่า ถ้าหากมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น แล้วบริเวณอื่นๆ ที่ไม่ใช่จุดกระเช้าจะต้องได้รับการพัฒนาด้วยหรือไม่ อย่างมุมถ่ายรูป ร้านอาหาร หรือบริเวณจุดที่อยู่อาศัย เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการวางแผนรองรับนักท่องเที่ยวในกรณีที่เยอะเกินไป
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อย่าง ขยะ ของเน่าเสีย หรือถ้าสร้างแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะสบายมากขึ้นกว่าเดิม เพระเราก็ยังต้องเดินเท้าต่อไปเพื่อให้ถึงที่หมาย ซึ่งถือว่ายังไกลอยู่มาก ดังนั้นหากจะต้องสร้างจริงๆ ก็ต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพิ่มควบคู่กันไปด้วย
6
งบประมาณ 28 ล้านบาททำอะไรบ้าง?
ก่อนดำเนินการสร้างกระเช้าภูกระดึง ที่นี่เคยได้รับการสำรวจความเป็นไปได้และผลกระทบ โดยการทำ อีไอเอ มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งการทำอีไอเอคือ การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบทั้งด้านบวกและลบจากการพัฒนาโครงการ
แต่ด้วยความที่โปรเจกต์นี้ถูกปัดทิ้งบ่อย ในปี 2566 จึงต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและสำรวจอีกครั้ง เพราะถ้าตามระยะเวลาที่สำรวจล่าสุด ก็นับว่าห่างกันไปหลายปี แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ ดังนั้นงบประมาณ 28 ล้านจึงสำคัญมากสำหรับการสำรวจและออกแบบการก่อสร้างในครั้งนี้ เพราะที่นี่เป็นอุทยานแห่งชาติที่สำคัญ จึงต้องทำการสำรวจออกแบบและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างระมัดระวัง
ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะสำรวจเสร็จภายในช่วง กันยายน 2568 ซึ่งปัจจุบันก็ได้ดำเนินการแล้วตั้งแต่ช่วง พฤศจิกายน 2566 หากสงสัยว่าทำไมถึงต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี ก็เพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ของการภูกระดึงอย่างรอบคอบ ตั้งแต่ด้านล่างไปจนถึงด้านบน โดยที่จะหาแนวทางรองรับนักท่องเที่ยวให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศให้น้อยที่สุดเช่นกัน
7
ส่งท้ายกระเช้าไฟฟ้า
เอาล่ะ อ่านมาถึงขนาดนี้ เพื่อนๆ รู้สึกยังไงบ้าง มีความคิดเห็นอย่างไรกับการที่จะได้มีกระเช้าไฟฟ้าแห่งแรกในภาคอีสาน และแห่งแรกในไทยที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน เชื่อว่าถ้าเกิดขึ้นจริงก็น่าจะสร้างอิมแพคต่อคนในพื้นที่และเพิ่มรายได้อย่างมหาศาลให้กับจังหวัดเลยได้มากทีเดียว เพราะจังหวัดเลย ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวน้อยที่สุด เป็นอันดับที่ 76 ของประเทศ ในบรรดา 77 จังหวัด ดังนั้นหากมีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นมาก็คาดว่าจะมีรายได้เข้าจังหวัดเลยได้อย่างมาก
แต่สำหรับนักท่องเที่ยวหลายคนที่ชอบความเป็นภูกระดึงดั้งเดิมก็อาจจะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามก็มีอีกหลายเสียงที่อยากให้นึกถึงผู้คนในระแวกนั้นก่อนเป็นอันดับแรก รวมถึงนักท่องเที่ยวบางส่วนที่อาจจะมีเงินแต่ร่างกายกลับไม่แข็งแรงตามใจนึก ก็อาจจะพลาดที่เที่ยวดีๆ แบบนี้ไป ซึ่งโครงการนี้จะสร้างได้จริงไหม ก็ต้องติดตามกันต่อไป
ส่วนใครอยากที่มาเที่ยวแวะชม วิวภูกระดึง ก็ขอแนะนำว่าให้มาช่วง 1 ตุลาคม ถึง 31 พฤษภาคมของทุกปีเท่านั้น เพราะตั้งแต่เดือนมิถุนายน – เมษายน จะเป็นช่วงที่อุทยานปิดเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ ไม่แน่ว่านี่อาจจะเป็นสิ่งที่หลายคนชื่นชอบเพราะเป็นภูเขาที่เปิดเพียง 2 เดือนต่อปีเท่านั้น ดังนั้นใครอยากลองสัมผัสกับการเดินขึ้นภูกระดึงก็อย่าลืมแวะมาเที่ยวที่หนองบัวลำภูกันนะทุกคนนนน
ข้อมูลอ้างอิง