เพื่อนๆ เคยนั่งสงสัยกันไหมว่า ว่าก่อนจะมีบัตรเครดิตแต่ละใบเนี่ยต้องใช้เอกสาร ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง และธนาคารเขามีขั้นตอนการสมัครและใช้เกณฑ์อะไรในการอนุมัติบัตรเครดิตแต่ละใบให้แต่ละคนกันบ้าง วันนี้ Lifesara จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจกัน เพื่อที่ไม่ว่าจะเป้นมือใหม่หรือมือเก๋า กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับกับบัตรเครดิตได้รู้และเข้าใจกันมากขึ้น
1
พาเช็กคุณสมบัติเงื่อนไขการสมัครบัตรเครดิตครั้งแรก
สำหรับการทำบัตรเครดิตใบแรก นอกจากเราจะต้องมีความพร้อมในเรื่องการบริหารจัดการเงินของตัวเองแล้ว เราต้องรู้ด้วยว่าตัวเองมีความพร้อมสำหรับการทำบัตรเครดิตแล้วหรือยังที่จะมีบัตรเครดิตใบแรก เพื่อนๆ สามารถเช็กคุณสมบัติการทำครั้งแรกตรงนี้เลย
– อายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
– ไม่มีประวัติการผิดชำระหนี้
– มีฐานเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป (และรับเงินเดือนผ่านการโอนเข้าบัญชี)
– ทำงานมาแล้ว 3-6 เดือนขึ้นไป
– กรณีเป็นเจ้าของกิจการต้องเปิดกิจการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี
2
พาเช็กเอกสารทําบัตรเครดิต ใช้อะไรบ้าง?
ในส่วนนี้ใครที่อยากไปธนาคารปั๊บได้ทำปุ๊บ ก็อย่าลืมเตรียมเอกสารให้ครบเพื่อที่จะสามารถสมัครได้ทันที โดยเอกสารที่กล่าวทั้งหมด สามารถใช้ได้กับพนักงานออฟฟิศบัตรใบแรก และ First Jobber
– สำเนาบัตรประชาชน
– สำเนาทะเบียนบ้าน
– หนังสือรับรองเงินเดือนหรือสลิปเงินเดือนของบริษัท
– รายการบัญชีเงินฝากย้อนหลังจากธนาคาร (Statement) ระยะเวลา 3 – 6 เดือน
– สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 1 เดือน เพื่อให้เห็นยอดเงินเดือนเข้าบัญชี
– หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย รายได้ปีล่าสุด (ถ้ามี)
3
พาเช็กเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร
ต่อมาเรามาดูกันต่อว่า เงื่อนไขการทำบัตรเครดิตส่วนใหญ่มีอะไรบ้าง เพื่อที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับเตรียมความพร้อมในการทำบัตรเครดิต ซึ่งรูปแบบของแต่ละธนาคารจะคล้ายกัน แต่ที่ต่างออกไปจะเป็นนโยบาย หรือสิทธิพิเศษของธนาคารที่ออกมาแตกต่างกันออกไป อาทิ
1. ค่าธรรมเนียม
ค่าธรรมเนียมเป็นส่วนเรียกเก็บตามกฎหมายที่หน่วยงานในรัฐบาลจะต้องเก็บทุกบัตร ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า, ค่าธรรมเนียมการใช้บัตร, ค่าธรรมเนียมรายปี, กรณีฟรีค่าธรรมเนียมตลอดชีพ แบบไม่มีเงื่อนไข และบางธนาคารอาจมีฟรีค่าธรรมเนียม โดยที่จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของธนาคารอีกว่าเลยว่าต้องใช้ขั้นต่ำเท่าไหร่ถึงจะได้รับการยกเว้น
2. ระยะเวลาชำระคืนปลอดดอกเบี้ย หรือ ระยะเวลาชำระบัตรเครดิต
สำหรับระยะเวลาวันชำระบัตรเครดิตจะมีวันที่นัดชำระอยู่ 2 วัน คือ
วันสรุปยอดบัญชี คือวันที่เราจะได้บิลสรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน
วันชำระเงิน คือวันที่เราต้องชำระหนี้ให้กับธนาคาร
โดยระยะปลอดดอกเบี้ยจะเริ่มนับทันทีตั้งแต่วันสรุปยอดบัตรเครดิต ซึ่งการนับระยะเวลาของวันสรุปยอดและวันชำระเงินจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคารอีกที เช่น SCB ปลอดดอกเบี้ยสูงสุด 51 วัน, TMB ปลอดดอกเบี้ย สูงสุด 50 วัน, KBANK ปลอดดอกเบี้ย สูงสุด 45 วัน เช่น SCB ปิดรอบวันที่ 5 ชำระเงินวันที่ 25, Kbank สรุปยอดวันที่ 10 สามารถชำระภายไม่เกินในวันที่ 25 เงื่อนไขการชำระเงินจึงต้องเช็กกับธนาคารต่างๆ อีกที
3. อัตราดอกเบี้ย/ค่าปรับ
สำหรับอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตในทุกธนาคาร จะเริ่มคิดจากวันที่เราใช้บัตรเครดิตรูดซื้อของ ไปจนถึงวันที่ต้องชำระเงินตามกำหนด ดังนั้นแล้วใครที่มีบัตรเครดิตในมือ แต่กลับเลือกไม่ชำระหนี้ตามเวลาที่กำหนดไว้ จะถูก “ดอกเบี้ยเล่นงาน” แถมยังให้บัตรของเรามีประวัติไม่ดีทางด้านการเงินอีกด้วย และที่สำคัญใครที่ชอบใช้จ่ายขั้นต่ำ บอกเลยว่าความเสี่ยงที่จะโดนดอกเบี้ยมากขึ้นด้วย เพราะการจ่ายขั้นต่ำเท่ากับว่าเราต้องจ่ายทั้งดอกเบี้ยของเก่าและของใหม่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งทางที่ดีเลี่ยงได้เลี่ยงดีกว่า
4
ก่อนอนุมัติบัตรเครดิตธนาคารพิจารณาอะไร?
1. เช็กประวัติทางการเงินที่ไม่มีหนี้ หรือค้างชำระในเครดิตบูโร
เครดิตบูโรเป็นบริษัทที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบัตรเครดิตของแต่ละคนไว้ จึงถือว่าเป็นส่วนแรกที่ธนาคารส่วนใหญ่จะเข้าไปเช็กก่อนเสมอ เพื่อตรวจสอบว่าประวัติการผ่อน ไฟแนนซ์ต่างๆ ของเรามีประวัติค้างชำระ หรือมีหนี้เสียอยู่หรือไม่ ฉะนั้นถ้าอยากอนุมัติบัตรผ่าน ก็อย่าลืมจัดการหนี้ทั้งหมดให้ยอดเป็น 0 บาท และคอยสร้างประวัติการเงินให้ดีมากขึ้น ไม่เป็นหนี้อีก (ซึ่งแต่ละธนาคารก็มีวิธีเช็คที่แตกต่างกันไปนะ!)
2. เช็คประวัติแหล่งรายได้ที่แน่นอน
เช็กประวัติหนี้ไปแล้ว เราก็ต่อกันที่เช็กรายได้ของเรากันต่อว่ามั่นคง และแน่นอนหรือเปล่า ซึ่งจุดนี้ธนาคารจะเช็กว่ารายได้ของเรามาจากส่วนไหน และผ่านช่องทางไหนบ้าง โดยอาชีพที่ได้เปรียบมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานบริษัท พนักงานข้าราชการ เพราะพนักงานที่กล่าวมาล้วนอยู่ในกลุ่มอาชีพที่ได้รับการโอนเงินเดือนผ่านทางบัญชีธนาคาร ซึ่งจะต่างกับพ่อค้าแม่ค้า หรือขายของเพราะอาชีพอิสระเหล่านี้จะมีเงินเข้าออกไม่เท่ากันในทุกเดือน และมียอดที่ไม่แน่นอนจึงมีโอกาสน้อยกว่านั่นเอง
3. เช็คว่าเอกสารต้องครบถูกต้อง
เอกสารสำหรับการทำบัตรเครดิตก็สำคัญมาก เพราะธนาคารจะเช็กความถูกต้อง และดูความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นลายเซ็นให้ตรงกัน หากเขียนผิด ไม่ควรมีรอยลบ หรือใช้น้ำยาลบคำผิด หากลืมหรือไม่ครบระหว่างการส่งเอกสารให้แก่ธนาคาร ธนาคารอาจจะส่งคืนใบสมัครของเรา และทำให้เสียเวลามากขึ้น
สำหรับใครที่ไม่แน่ใจหรือกังวลในการส่งเอกสารว่าจะผิดพลาดตรงไหนบ้าง อยากให้ลองโทรหาธนาคารนั้นๆ โดยตรง เพื่อที่จะช่วยเช็กให้มากขึ้น แต่อาจจะโทรเช็ก 1-2 ครั้ง เพราะเจ้าหน้าที่บางคนอาจแนะนำผิดพลาด ดังนั้นควรโทรเช็กให้แน่ใจอีกครั้งนึง
4. เช็คความน่าเชื่อถือของเรา
สำหรับความน่าเชื่อถือก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญเพราะเป็นส่วนที่ธนาคารจะพิจารณาสุดๆ นั่นก็คือ ที่อยู่ของเรา และข้อมูลติดต่อว่าชัดเจนมากน้อยแค่ไหน เพราะมีไว้เพื่อติดตามตัวเรานั่นเอง ซึ่งข้อนี้อยากให้มีข้อมูลมากแค่ไหนก็ควรบอกไปให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเบอร์โทรศัพท์ เบอร์คนรอบตัว หรือเบอร์ที่ทำงาน หลายคนอาจสงสัยว่าต้องทำขนาดนี้เลยเหรอ ก็เพราะว่าธนาคารคือส่วนสำคัญในการให้กู้ยืม ฉะนั้นจึงต้องทำไว้เพื่อพิจารณาดูความเป็นไปได้ของเราว่าติดต่อง่ายมั้น หรือพยายามปิดบังข้อมูลอะไรบ้างหรือเปล่า?
5. เช็คความสามารถในการชำระหนี้
หมายความว่า ธนาคารจะเช็กการเงินของเราว่าความน่าจะเป็นในการชำระหนี้ของเราเกินความสามารถไหม มีกำลังเงินพอหรือเปล่า ชำระตรงเวลา ตรงตามเกณฑ์เงื่อนไขทุกๆ อย่างไหม หากเราทำถูกต้องครบทุกประการ ก็จะยิ่งช่วยให้การอนุมัติตัวบัตรเครดิตง่ายขึ้น
แต่สำหรับใครที่ไม่มีประวัติการทำบัตรเครดิตมาก่อน มีวิธีแก้อยู่อย่างนึงคือให้ลองทำบัตรเครดิตใบเล็กๆ ในสถาบันการเงิน หรือธนาคารสักที่ เพื่อที่เราจะได้มีข้อมูลส่วนตัวอยู่ในระบบของเครดิตบูโร และธนาคารจะทำการตรวจสอบเราเอง เป็นอีกวิธีที่จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของบัตรได้
5
สาเหตุที่ทำให้เปิดบัตรเครดิตไม่ผ่าน ทำไมธนาคารไม่อนุมัติ
1. ข้อมูลประวัติบูโรเป็นยังไง?
ประวัติบูโรจะเป็นตัวชี้เลยว่าเรามีหนี้ดีหรือหนี้เสีย และนิสัยการเงินของเราเป็นยังไง เพราะในส่วนนี้ธนาคารจะดูกำลังในการชำระหนี้ ของเราว่าเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่ และเคยจ่ายช้าไปถึง 90 วันหรือ 3 เดือนหรือไม่ เพราะหากติดสถานะว่าเคยเป็นหนี้แล้วก็เป็นการยากจะอนุมัติหรือขอสินเชื่อใหม่ เพราะอย่างนั้นแล้วเลยเป็นที่มาของคำว่าติดบูโร ที่มาจากคำว่า ติดเงื่อนไขข้อมูลของบูโร หรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า แบล็คลิสต์ของเครดิตบูโรนั่นเอง
2. ภาระหนี้เยอะเกินไป
แน่นอนว่ายิ่งภาระหนี้เยอะ ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการบริหารด้านการเงิน ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ ธนาคารคงไม่ต้องการให้คนที่มีภาระ หรือไม่มั่นคงด้านการเงินมากู้ยิ่งขึ้น เพราะหากยิ่งมีหนี้มากเกินไป อย่างการผ่อนบ้าน รถ หรือของชิ้นใหญ่มากมาย ธนาคารอาจจะพิจารณาหนักมากๆ
3. ประกันสังคมจำเป็นมากน้อยแค่ไหน?
สำหรับใครที่สงสัยว่าประกันสังคมจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ขอบอกเลยว่าประกันสังคมนับว่าเป็นเอกสารสำหรับช่วยประกอบการพิจารณาของธนาคารเพียงเท่านั้น เพราะส่วนหลักสำคัญที่ไม่ผ่านมักจะเกี่ยวข้องกับ คุณสมบัติ ไม่ตรงตามเงื่อนไข เอกสารไม่ครบ หลายๆ อย่างไม่ชัดเจน รายได้ไม่แน่นอน ไม่น่าเชื่อถือ หรือมีหนี้ที่มากเกินไป ธนาคารจะเล็งเห็นตรงนี้มากกว่า ดังนั้นเรื่องที่บอกว่าไม่ส่งประกันสังคม ถือว่าไม่เกี่ยวกัน
4. ยื่นสินเชื่อบ่อย สมัครบัตรบ่อยเกินไป
จริงๆ แล้วเราไม่ควรยื่นสินเชื่อบ่อยเกินไป เช่น ภายใน 1 เดือน ยื่นไปแล้วมากกว่า 1 ครั้ง การทำแบบนี้จะทำให้ทางธนาคารคิดว่าเรากำลังมีปัญหาทางด้านการเงิน เพราะการที่เราสมัครเข้ามาบ่อยๆ ไม่เป็นผลดีกับตัวเราแน่นอน และในกรณีที่ยื่นไปแล้วแต่ถูกปฎิเสธสินเชื่อ เราควรเว้นระยะห่าง 3-4 เดือน ในการยื่นส่งอีกครั้ง ในระหว่างที่รอวันยื่นอีกครั้ง เราก็จะได้มีโอกาสชำระหนี้ที่เหลือ และสร้างคะแนนให้ธนาคารพิจารณามากขึ้น
5. ฐานเงินเดือนไม่ถึง
หลายๆ ธนาคารในปัจจุบันมักจะพิจารณาฐานเงินเดือนแรกเริ่มเป็นหลัก เพราะมันจะแสดงให้เห็นว่าเรามีรายได้มากพอที่จะรับผิดชอบต่อภาระด้านการเงินได้หรือเปล่า ดังนั้นแล้ววิธีที่ดีที่สุดในการทำให้ฐานเงินเดือนผ่าน ก็คือการรอจนกว่าจะถึงเกณฑ์นั่นเอง หรือใครที่จำเป็นต้องรีบใช้บัตรเลย ธนาคารเขาก็จะมีวิธีแนะนำให้ด้วยนะ อาจจะลองเข้าไปปรึกษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เพราะบางธนาคารก็อาจจะแนะนำไม่เหมือนกัน
ทีนี้เราก็พอเข้าใจถึงวิธีการสมัคร กับข้อมูลพื้นฐานกันแล้วว่าก่อนที่จะสมัครบัตรเครดิต เขาต้องทำยังไงกันนะถึงจะสมัครบัตรเครดิตให้ผ่านฉลุยกัน เพราะงั้นแล้วเพื่อนๆ ที่กำลังกังวลจะทำผ่านไหม จะมีกับเขาไหมต้องรอเวลานิดนึง เพราะการเงินถือเป็นเรื่องน่ากลัว หากเราไม่รู้จักใช้ และไม่มีวินัยทางการเงินมากพอ บางทีถ้าเรารอให้พร้อม เช็กให้แน่ใจว่าเอกสารและเงื่อนไขของเรานั้นถูกต้อง แค่นี้ก็ไม่มีอะไรต้องกังวลแล้ว