บัตรเครดิตก็เป็นเหมือนบัตรที่ช่วยทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ไม่ว่าจะซื้อของที่สามารถผ่อนได้ หรือจะได้สิทธิพิเศษมากมาย ยิ่งใช้ก็ยิ่งได้คืน ซึ่งถ้าใช้เป็นก็เรียกได้ว่าคุ้ม แต่ถ้าใช้ไม่เป็น ไม่มีความพร้อมในการใช้ก็เรียกได้ว่าทำชีวิตแย่ลงได้เลย 

แต่การใช้บัตรเครดิตก็ไม่ใช่ว่าจะทำตามใจชอบ รูดซื้อของสนุกมือ เพราะการจะใช้จ่ายในแต่ละที เราก็ต้องรู้จักวงเงินของเราอีกด้วย ซึ่งวงเงินก็เป็นจุดที่จะจำกัดการใช้บัตรเครดิตของเราในแต่ละเดือน โดยวันนี้พวกเรา Lifesara จะพาทุกคนไปรู้จักของวงเงินบัตรเครดิต และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่าเราใช้เกินขีดจำกัด และมีวิธีไหนบ้างที่สามารถเพิ่มวงเงินให้กับบัตรเครดิตของเรา

 1

ความหมายของวงเงินบัตรเครดิต

วงเงินบัตรเครดิต คือ ยอดเงินที่ทางธนาคารหรือเจ้าของบัตรอนุมัติให้ใช้ได้สูงสุด เช่น ธนาคารให้วงเงินมา 60,000 บาท เราสามารถรูดซื้อของได้ทันที แต่ยอดเงินรวมทั้งหมดในการซื้อจะรวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท นั่นหมายความว่าธนาคารจำกัดยอดเงินสูงสุดที่เราสามารถใช้จ่ายกับบัตรเครดิตได้ 

ซึ่งทุกการใช้จ่ายแต่ละครั้งจะถูกหักออกจากวงเงินเครดิตของเรา และเหลือแค่จํานวนเงินเครดิตที่มีอยู่ของคุณ แต่ก่อนทึ่เราจะรู้ว่าธนาคารเขาพิจารณาวงเงินบัตรเครดิตยังไง ให้เรามาดูกันก่อนว่าวงเงินมีกี่ประเภท  โดยวงเงินนั้นมีนิยามอยู่ 2 แบบ 

1.1 วงเงินจำกัด
วงเงินจำกัด คือวงเงินที่ธนาคารให้เรามาซื้อของ ต้องไม่เกินตามที่กำหนดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่คนเรามักจะเป็นประเภทนี้กันเยอะ ด้วยรายได้ และอาชีพต่างๆ 

1.2 วงเงินไม่จำกัด
สำหรับวงเงินไม่จำกัด คือวงเงินที่ธนาคารไม่จำกัดการใช้จ่าย ถึงแม้ว่าจะมีจำกัดแต่ยอดนั้นจะสูงเกินกว่าจะใช้ถึง จึงเรียกว่าไม่จำกัดนั่นเอง ซึ่งคนที่จะครอบครองบัตรวงเงินไม่จำกัดได้ ต้องทำตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ซึ่งเงื่อนไขที่ว่าส่วนใหญ่จะต้องมีทรัพย์สินเยอะมากๆ หรือก็คือการจะมีวงเงินไม่จำกัดได้จะต้องเป็นเศรษฐี หรือไม่ก็เป็นมหาเศรษฐีเลยถึงจะมีสิทธิ์ใช้ได้นั่นเอง หรือใครนึกภาพไม่ออก ก็ให้นึกถึงบัตร Black Card ซึ่งจะต้องมีความมั่งคั่งระดับหลักล้านขึ้นไป ซึ่งสามารถยกระดับคนที่ครอบครองได้เลย

 2  

สิ่งที่ธนาคารใช้พิจารณากำหนดวงเงิน

ก่อนที่เราจะได้วงเงินในแต่ละครั้ง ด่านแรกธนาคารก็ต้องทำการพิจารณาประวัติการเงินของเราก่อนว่า เป็นมายังไง ใช้เกณฑ์อะไรวัด ซึ่งเราก็ขอแบ่งเป็น 2 แบบ ไม่ว่าจะเป็น

2.1 ฐานเงินเดือนของเรา
สิ่งที่ธนาคารจะพิจารณาอย่างแรกเลยคือ รายได้ของเราว่าอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะธนาคารจะตีเป็นค่าเฉลี่ยฐานเงินเดือนของเราว่าอยู่ในเกณฑ์วงเงินเท่าไหร่ ซึ่งส่วนมากวงเงินจะเริ่มต้นที่ 1.5 เท่าของฐานเงินเดือน และไปสุดที่ 5 เท่า เช่น

– เงินเดือน 15,000 – 30,000 บาท วงเงินบัตรเครดิตไม่เกิน 1.5 เท่า
– เงินเดือน 30,000 – 50,000 บาท วงเงินบัตรเครดิตไม่เกิน 3 เท่า
– รายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป วงเงินบัตรเครดิตไม่เกิน 5 เท่า

2.2 ประวัติการชำระเงิน
อย่างที่สองที่ธนาคารจะดูนั่นก็คือ ความสามารถในการชำระหนี้ หากว่ามีบัตรเครดิตมานานแล้ว เรามีประวัติการชำระเงินที่ดีมาตลอด ทางสถาบันที่ออกบัตรให้ก็จะเชื่อถือความมั่นคงของเรามากขึ้น

 3  

วิธีการขอเพิ่มวงเงินบัตรเครดิต

ต่อมาใครที่กำลังสงสัยแล้วถ้าได้วงเงินเท่านี้ แล้วอนาคตเรายังจะสามารถเพิ่มวงเงินได้หรือเปล่า เขาใช้เกณฑ์อะไรในการเพิ่มวงเงินให้กับเรากันนะ เราจะบอกว่าธนาคารจะมีการเพิ่มวงเงินอยู่สองแบบ 

3.1 วงเงินแบบถาวร
แบบถาวร จะเป็นการขอเพิ่มวงเงินแบบไม่จำกัดเวลา หรือหมายความว่าสามารถใช้ได้ตลอด โดยคนที่จะใช้ได้จะต้องเป็นคนที่ใช้บัตรเครดิตเป็นประจำ ใช้บ่อย หรือต้องใช้ให้เกิน 6 เดือนก่อน และมักจะชำระด้วยการจ่ายเต็มจำนวนอยู่เสมอ รวมถึงมีแนวโน้มว่าจะมีรายได้ที่มากขึ้น อาจจะมี streatment ย้อนหลังเพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน

3.2 วงเงินแบบชั่วคราว
แบบชั่วคราว จะเป็นการเพิ่มวงเงินในระยะเวลาสั้นเท่านั้น ไม่มีเงื่อนไข หรือก็คือธนาคารจะพิจารณาไม่นาน ซึ่งแบบนี้จะเหมาะกับคนที่ต้องการใช้เงินรวดเร็ว หรือมีเรื่องด่วนที่ต้องใช้ เช่น ไปเที่ยว เจ็บป่วย เป็นต้น  พอเมื่อถึงเวลาวงเงินที่เคยเพิ่มชั่วคราวก็จะกลับสู่วงเงินเดิมที่เคยเป็นก่อนหน้านั้น (ลองดูตัวอย่างขั้นตอนการขอวงเงินชั่วคราวของธนาคารไทยพาณิชย์ได้ที่นี่เลย)

 4  

ธนาคารใช้อะไรพิจารณาเพิ่มวงเงินบัตรเครดิต

อย่างแรกที่ธนาคารจะเช็กก่อนเลยคือ วินัยในการใชับัตรเครดิตของเราดีมากแค่ไหน เรารักษาประวัติเครดิตดีมากแค่ไหน? โดยข้อนี้ถ้าประวัติของเราดี คงมาตรฐานมาสม่ำเสมอ ธนาคารก็จะอนุมัติวงเงินได้ง่าย โดยสิ่งที่ธนาคารจะมองเป็นหลักๆ เลย อาทิ

  1. ชำระตรงเวลาไหม?
  2. ต้องไม่มียอดค้างจ่าย
  3. ไม่มีประวัติผิดนัดชำระ
  4. ต้องจ่ายเต็มจำนวน 
  5. อัปเดตรายได้ปัจจุบัน 
  6. รายได้ที่มากขึ้น
  7. มีเงินฝาก, มีกองทุน ทรัพย์สินที่ฝากธนาคารไว้มีมากขึ้น 
  8. มีประวัติการใช้บัตรมานานแค่ไหน? เช่น ต้องใช้มานานเกิน 6 เดือน
  9. รายได้ รายจ่ายต้องสมดุลกัน 
  10. ต้องแจ้งพนักงานหรือว่าสามารถเปลี่ยนเองได้เลย


สำหรับการแจ้งธนาคารเพื่อของเพิ่มวงเงินบัตรเครดิตเขาทำกันยังไง ส่วนใหญ่ผู้ใช้บัตรเครดิตสามารถติดต่อได้ทางโทรศัพท์ หรือส่งคำขอได้ทางออนไลน์โดยตรง ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายๆ ธนาคารเริ่มมีบริการเพิ่มวงเงินในแอปพลิเคชันของธนาคารโดยตรง

ซึ่งก่อนแจ้งร้องขอ อย่าลืมที่จะอัปเดตข้อมูลรายได้ของตัวเองให้เป็นปัจจุบันด้วยนะ  เช่น ใครที่ต้องการขอเพิ่มวงเงินชั่วคราว ทางธนาคารจะมีเบอร์ Call center หรือบางธนาคารมีมาในตัวแอปเลย เราสามารถเข้าในฟีเจอร์ภายในแอปและทำการเพิ่มได้เลย

 5  

ข้อควรระวังของการมีวงเงินเยอะ

5.1 ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น 
การมีวงเงินเยอะข้อดีก็คงเป็นการซื้อของ รูดของ ผ่อนของได้มากขึ้น แต่ในอีกมุมนึงก็ต้องแลกมากับความรับผิดชอบที่มากขึ้น เพราะการที่มีเงินเยอะขึ้นแน่นอนว่าการมีวินัยทางด้านการเงินก็ต้องมีมากตามไปด้วย 

5.2 ส่งผลเสียต่อคะแนนเครดิต
ยิ่งยอดคงเหลือในบัตรเครดิตมีเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงว่าเรากำลังเป็นหนี้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อคะแนนเครดิต และยังส่งผลกระทบต่อการกู้ยืมอื่นๆ อีกด้วย เพราะวงเงินในบัตรเครดิตส่วนใหญ่จะกำหนดมาให้แล้วตั้งแต่แรก 

5.3 มองว่ามีปัญหาทางด้านการเงิน
ยิ่งวงเงินเครดิตที่สูงเกินไปอาจทําให้ธนาคารมองว่าเรามีปัญหาทางด้านการเงิน เพราะมันเหมือนกับว่าวงเงินเครดิตรวมของเรากับในบัญชีเครดิตทั้งหมดมันสูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้จริง

สรุปแล้วการเพิ่มวงเงินก็ล้วนขึ้นอยู่กับความสะดวกในชีวิตของแต่ละคน แต่หากไม่มีความมั่นใจเรื่องการรับผิดชอบที่มากพอ หรือกลัวว่าจะมึภาระที่มากขึ้น อาจลองมองข้ามการเพิ่มวงเงินไปก่อนก็ได้  แต่ใครที่จำเป็นจริงๆ อาจศึกษาและเตรียมความพร้อมก่อนยื่นเพิ่มวงเงินดีกว่านะ