หน้าที่ของบ้าน คือต้องตอบสนองความต้องการและการใช้งานของทุกคนภายในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่ต้องการการดูแลและความปลอดภัยมากกว่าวัยอื่น ดังนั้นการออกแบบที่ดีจะช่วยแก้ปัญหาที่ผู้สูงอายุต้องเจอ ลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ และทำให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องพึ่งพาคนในบ้านตลอดเวลา
สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่ต้องการออกแบบบ้านผู้สูงอายุ หรือเผื่อในอนาคต วันนี้ LifeSara มีข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุมาฝาก จะมีเรื่องอะไรบ้าง ไปดูกันเลยยย
ข้อควรคำนึงในการออกแบบบ้านผู้สูงอายุ
โดยจะแบ่งออกเป็น 5 ข้อหลัก ๆ ดังนี้
- สิ่งเร้า เมื่ออายุมากขึ้นการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น การมองเห็น, การรับรส, การได้กลิ่น, การได้ยิน และการสัมผัส จะลดลงเรื่อย ๆ จึงต้องจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น
- การปรับแสงสว่างภายในห้องให้มองเห็นได้ชัดเจน
- ทาสีในโทนที่แตกต่างกัน แยกผนังและพื้นให้ชัดเจนเพื่อลดอุบัติเหตุ
- การเคลื่อนที่และการเข้าถึง ปัญหาที่ผู้สูงอายุหลายคนต้องเจอคือการเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่วเหมือนเมื่อก่อน รวมทั้งการประคองตัวและความยืดหยุ่นของร่างกายไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องออกแบบทางเดินและพื้นสำหรับผู้สูงอายุเพื่อความสะดวกสบายในการเคลื่อนที่ และลดการเกิดอุบัติเหตุ ตัวอย่างเช่น การทำทางลาดเอียง, ความสูงของลูกตั้งบันได และพื้นที่ต่างระดับภายในบ้าน
- ความปลอดภัย ด้วยสมรรถภาพทางร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้นความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุมักจะรุนแรงกว่าและพบบ่อยกว่าวัยอื่น ดังนั้นการออกแบบสำหรับผู้สูงอายุนั้นควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก เพื่อลดความรุนแรงและอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นภายในบ้าน
- ความเป็นส่วนตัว พื้นที่ส่วนตัวของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพทางจิตใจ การคิดวิเคราะห์หรือทบทวนเรื่องราวของจิตใจ
- ความสะดวกสบาย เป็นสิ่งการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุให้ดีมากขึ้น ฉะนั้นการออกแบบบ้านผู้สูงอายุต้องส่งเสริมทั้งเรื่องของกายและใจ อย่างการเลือกวัสดุต่าง ๆ ภายในบ้าน ที่ส่งผลต่ออุณหภูมิหรือเสียง เช่น อุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นเกินไปจะทำให้ไม่สบายได้ง่าย, ผนังที่ไม่ซับเสียงจะส่งผลทางอารมณ์ ทำให้หงุดหงิดง่าย
การออกแบบฟังก์ชันในห้องต่าง ๆ
ห้องนอนและห้องแต่งตัว แนะนำให้อยู่ชั้นล่างของบ้าน ไม่ต้องขึ้น-ลงบันไดบ่อย ควรมีความเป็นส่วนตัวมากที่สุด และมีขนาดที่ไม่เล็กเกินไป เพื่อความโปร่งสบาย ที่สำคัญควรมีหน้าต่างเพื่อให้อากาศหมุนเวียนและแสงสว่างในห้องเพียงพอ
- แสงสว่างในห้องนอน ไม่ควรเป็นแสงจ้าเกินไป แนะนำให้เลือกใช้แสงนวล เพื่อความสบายตาในการมองเห็น
- หน้าต่าง สำหรับห้องผู้สูงอายุควรทำให้กว้าง และไม่ควรอยู่สูงเกินไปเพื่อการใช้งานที่สะดวก
- ควรมีพื้นที่ในห้อง อย่างน้อย 10-12 ตร.ม./คน (ไม่รวมห้องน้ำ) และควรมี 16-20 ตร.ม. สำหรับห้องพักรวม 2 คน เพื่อให้รถเข็นเคลื่อนที่ได้สะดวก
ห้องนั่งเล่น จะเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น สันทนาการและบันเทิง อ่านหนังสือ ดูทีวี นั่งเล่นและควรมีเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสม ควรติดตั้งหน้าต่างให้สูงกว่าพื้น อย่างน้อย 50 ซม. เพื่อให้มองเห็นด้านนอกได้ ระบายอากาศได้ดี มีขนาดใหญ่พอให้แสงแดดผ่านเข้ามาได้
ห้องครัว การออกแบบห้องครัว ควรพิจารณาถึงข้อจำกัดในการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในครัว เช่น เตา ตู้เย็น อ่างล้างมือ ควรมีโอกาสในการเกิดเพลิงไหม้น้อยที่สุด
- เตาไม่ควรอยู่ในมุมของห้องครัว
- อ่างล้างมือควรเป็นแบบคู่ ด้านล่างของอ่างล้างมือควรมีพื้นที่สำหรับรถเข็น
- ตู้เย็นหรือลิ้นชักในครัวควรอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม จะได้ไม่ก้มเยอะเกินไปและป้องกันอาการปวดหลัง
ห้องน้ำ ควรมีความกว้างประมาณ 1.50 – 2.00 เมตร. เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ควรมีราวจับหรือราวทรงตัวในห้องน้ำ โดยเฉพาะส่วนอาบน้ำ
- ควรมีสัญญาณฉุกเฉินในห้องน้ำ
- ฝักบัว ควรเป็นชนิดแรงดันต่ำ
- ประตูห้องน้ำ ควรเป็นแบบเปิดออกเพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ
- ห้องน้ำไม่ควรแคบเกินไปจนเคลื่อนไหวลำบาก
- พื้นผิวไม่ควรลื่น และแยกระหว่างส่วนเปียกและส่วนแห้งให้ชัดเจนเพื่อกันลื่น
การออกแบบฟังก์ชันภายนอกบ้าน
ทางเข้าบ้าน
- ควรมีระดับเดียวกันกับพื้นภายนอก
- ความกว้างขั้นบันได (ลูกนอน) อย่างน้อยขั้นละ 30 ซม.
- ความสูง (ลูกตั้ง) แต่ละขั้นไม่ควรเกิน 15 ซม.
- ติดตั้งโคมไฟเพิ่มแสงสว่างเพื่อป้องกันอันตรายจากการเข็นรถหรือขึ้น-ลงในตอนกลางคืน
- โคมไฟที่ใช้งานนอกบ้าน ต้องทนทานต่อแดดฝนได้ดี ควรใช้หลอดไฟแสงสีขาว เช่น โทนสี Cool Day Light
ทางลาด
- พื้นผิวของทางลาดควรใช้วัสดุที่ไม่ลื่น และต่อเนื่องไม่มีร่องรอยต่อ
- รอยต่อระหว่างพื้นกับทางลาดเอียงต้องเรียบ ไม่มีสะดุด มีความกว้าง 90 – 150 ซม. มีความยาวช่วงละไม่เกิน 6.00 ม. และมีราวจับตลอดทาง ความลาดชันต้องไม่เกิน 1:12
- ความลาดเอียงที่ผู้สูงอายุจะช่วยเหลือตัวเองได้ ในการเข็นรถเข็นขึ้นเองได้ คือ 1:20 แต่จะใช้พื้นที่เยอะขึ้น
สำหรับใครที่มองหา “วัสดุอื่นในการรีโนเวทบ้าน” ตามอ่านต่อตรงนี้ได้เลยยยย