#ล้วงความลับคนไปเเลกเปลี่ยน EP.3

จากอดีตนักเรียนทุน ASEAN ที่เคยสอบกี่ครั้ง ๆ ก็ยังไม่ผ่าน สู่นักเรียน MBA Harvard! และผู้บริหารในบริษัทใหญ่ เส้นทางความสำเร็จที่แลกมาด้วยความพยายาม
.
วันนี้พวกเรา #อยากไปแลกเปลี่ยนโว้ยยย จะมานำเสนอเรื่องราวของพี่ปอย ภรรททิยา ผู้มุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้ต่อความท้าทายใดใด โดยจุดเริ่มต้นทุกอย่าง เกิดจากการไปเรียนที่สิงคโปร์ช่วงมัธยม โดยตอนนี้ พี่ปอยดำรงตำแหน่ง Head of Strategy and Corporate Development ของบริษัท True Digital Group //เท่สุด ๆ
.
พวกเราเชื่อว่าเรื่องราวของพี่ปอยจะสามารถให้แรงบันดาลใจเพื่อน ๆ อีกหลายคนที่กำลังตัดสินใจจะไปเรียนต่อได้แน่นอนค่ะ ไปอ่านกันเลยย
.
.
.
#จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิตคือการไปเรียนที่สิงคโปร์ช่วงมัธยม
ตอนเด็ก ๆ พี่ปอยเคยมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่ประเทศสิงคโปร์ และรู้สึกทั้งสนใจและประทับใจในประเทศนี้มากๆ คุณพ่อจึงชวนให้พี่ปอยลองสอบชิงทุน ASEAN จากกระทรวงการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ เพื่อไปเรียนต่อที่สิงคโปร์โดยตรง
.
เมื่อพี่ปอยรู้ข่าวเรื่องทุนจึงตัดสินใจสมัครสอบ และสามารถชิงทุนเพื่อไปเรียนต่อที่นั่นตอนช่วงประมาณ ม.3-4 ได้สำเร็จ แต่ในสมัยช่วงปี 2002 นั้น การที่เด็กคนนึงต้องไปใช้ชีวิตต่างแดนคนเดียว ถือว่าเป็นความท้าทายและยากลำบากอย่างหนึ่ง ยิ่งเป็นยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มี smartphone จะติดต่อหาครอบครัวที่ไทยก็ลำบาก ทำให้พี่ปอยต้องปรับตัวพอสมควร
.
เนื่องจากหลักสูตรการเรียนการสอนของที่สิงคโปร์นั้นมีความเข้มข้นมากกก เด็กสิงคโปร์ค่อนข้างกดดันและแข่งขันกันสูงในการเรียน ในช่วงแรก ๆ ที่ปอยไปเรียน พี่ปอยเล่าว่าพี่เขาแทบไม่เข้าใจบทเรียนเลยโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ สอบกี่ครั้ง ๆ ก็ยังไม่ผ่าน แถมยังมีการสอบถี่มาก สอบทุกครั้งหลังจบทุกบทเรียน แล้วก็สอบตกจนท้อแท้ใจ
.
แต่ในความท้อแท้นั้น พี่ปอยก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า โอกาสที่จะได้ทุนมาเรียนต่างประเทศมันอาจจะไม่ได้มีมาบ่อยนัก ดังนั้น หากวันนี้ตนยอมแพ้ขอกลับไทยไปก่อน ในวันข้างหน้าที่พี่ปอยมองกลับมา อาจจะรู้สึกเสียดายมากแน่ ๆ พี่ปอยจึงตัดสินใจกับตัวเองว่า “ฉันอยากจะลองสู้ให้ถึงที่สุด!”
.
.
.
#เรียนที่สิงคโปร์หนักมากกว่าไทยหลายเท่าแต่อาจารย์เขาพร้อมจะช่วยเด็กๆเสมอถ้าตั้งใจจริงๆ
พี่ปอยตัดสินใจไปปรึกษาหาอาจารย์ประจำวิชาในตอนพักกลางวัน ซึ่งความน่าประทับใจคืออาจารย์ที่นี่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูสูงมาก แม้อาจารย์จะกำลังอยู่ในช่วงพักทานข้าว แต่อาจารย์ก็ยินดีที่จะสอนและอธิบายเพิ่มเติมให้พี่ปอยในบทเรียนที่ไม่เข้าใจ (เคยมีเอาซุปไก่มาฝากพี่ปอยช่วงที่ป่วยด้วย อาจารย์น่ารักมาก ๆ )
.
เพื่อคลายความเครียดจากการเรียน พี่ปอยผู้ชื่นชอบในดนตรีอยู่แล้ว ยังหาเวลากับเพื่อน ๆ นักเรียนชาวสิงคโปร์ อินโดและฟิลิปปินส์ ตั้งวงดนตรีด้วยกัน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการระบาดโรคซาร์สพอดี เลยได้มีโอกาสนำวงไปแสดงเพื่อการกุศลในงานโรงเรียน นำเงินไปช่วยผู้ป่วยโรคซาร์สอีกด้วย
.
ถึงแม้จะเรียนหนักและไม่ค่อยมีเวลา แต่กลายเป็นว่าการได้แบ่งเวลาบางส่วนไปทำในสิ่งที่ชอบ เพิ่มสมดุลให้ชีวิต กลับช่วยเสริมให้การเรียนดีขึ้น
.
ซึ่งผลจากความพยายามของพี่ปอยนั้นก็ไม่สูญเปล่า เพราะในที่สุดพี่ปอยก็สามารถจบ GCE O’Level ตอน ม. 4 ด้วยเกรด A ทุกรายวิชา พร้อมกับได้รับรางวัล Most Improved Student (ผู้ที่มีพัฒนาการมากที่สุดในชั้นเรียน)
.
จุดนี้เป็นจุดที่ทำให้มุมมองการใช้ชีวิตของพี่ปอยเปลี่ยนไปจากเดิม ในช่วงไหนที่ชีวิตเริ่มเจอความลำบากหรือเริ่มท้อ พี่ปอยจะย้อนกลับไปคิดถึงตอนที่เรียนอยู่สิงคโปร์แล้วบอกตัวเองเลยว่า ‘ตอนนั้นลำบากสุด ๆ โหดมาก ๆ แต่ฉันก็ยังผ่านมันมาได้ หลังจากนี้ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่จะยากไปกว่านั้นอีกแล้ว’ Mindset นี้ได้ติดตัวพี่ปอยและพี่เขายังคงนำไปปรับใช้กับทุก ๆ เรื่อง แม้กระทั่งตอนที่ทำงานในปัจจุบัน
.
.
.
#เส้นทางการเรียนต่อมหาวิทยาลัยระดับโลกที่ได้มาด้วยการลองเปิดโอกาสให้ตัวเอง
หลังเรียนจบมหาลัย และทำงานไปได้ระยะหนึ่ง พี่ปอยคิดอยากจะเพิ่มพูนความรู้และเปิดประสบการณ์ของตัวเองเกี่ยวกับด้านธุรกิจให้มากขึ้น จึงตัดสินใจที่จะไปเรียนต่อป.โท MBA
.
ซึ่งในการสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้นจะมีด้วยกันทั้งหมด 2-3 รอบ เริ่มจากประกาศรับสมัครรอบแรก ยื่นเอกสาร ประกาศผล ยืนยันตัวตน และเว้นช่วงไป ก่อนจะประกาศรับสมัครคนเพิ่มรอบที่ 2 ต่อ ๆ มา ช่วงนั้นพี่ปอยได้ปรึกษารุ่นพี่เกี่ยวกับการวางแผนเลือกมหาวิทยาลัย ซึ่งคำแนะนำก็คือ ให้เราแบ่งมหาวิทยาลัยออกมาเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ เพื่อใช้ในตัดสินใจยื่นสมัคร และเพื่อเป็นการคัดแต่เนิ่น ๆ ว่าโอกาสของเราของแต่ละที่เป็นอย่างไร จะได้มีแผนสำรอง
.
1. Top University คือมหาลัยที่มีคนอยากเข้าเยอะมาก และโอกาสที่เราจะสอบติดค่อนข้างมีน้อย อย่างพวก Harvard University หรือ University of Pennsylvania (Wharton) คำแนะนำคือลองยื่นไปก่อน ติดไม่ติดไม่เป็นไร เพราะ hit rate ค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว
.
2. มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงรองลงมา และตนพอจะมีโอกาสที่จะสอบติดมากขึ้น ด้วย profile ของเรา อันนี้ก็แนะนำว่ายื่นไปก่อนเหมือนกัน ถือว่าเป็นแผนที่สองที่คิดว่าน่าจะพอมีโอกาสได้อยู่ ถ้าหลุดจาก Top University
.
3. มหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะสอบติด เราก็เก็บไว้เป็นแผนสุดท้ายถ้าข้อ 1 กับ 2 ที่หว่านไปนั้นไม่ได้เลย
.
หลังจากสมัครรอบ 1 เสร็จสิ้น ผลปรากฎว่าพี่ปอยสอบติด University of Pennsylvania (Wharton) ได้! ตอนนั้นพี่ปอยรู้สึกเหมือนฝันที่ติดมหาลัย Top ระดับโลก ไม่คิดว่าจะเข้า Wharton ได้ และได้เริ่มเตรียมเอกสารพร้อมกับมองหาที่พักเอาไว้
.
เวลาผ่านไปจนมาถึงรอบที่ 2 ของการสมัครมหาวิทยาลัย (ที่อเมริกา การสอบเข้าจะมีแบ่งรอบยื่นเรียนต่อเป็น 3 รอบ) มีรุ่นพี่ให้คำแนะนำพี่ปอยว่าลองสมัครไปที่ Harvard ด้วยดีไหม ซึ่งพี่ปอยก็มองว่า จริง ๆ ในตอนนั้นก็ไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว การยื่น Harvard เพิ่มขึ้นไปอีกที่ถ้าได้ก็เหมือนฝันเลย จึงตัดสินใจลองสมัครไป ซึ่งผลปรากฎว่าพี่ปอยผ่านการคัดเลือกให้ไปสัมภาษณ์
.
พี่ปอยบอกว่าถึงแม้ว่าจะไม่รู้ว่าในท้ายที่สุดจะติด Harvard หรือเปล่า แต่พี่เค้าก็ไม่อยากเสียใจภายหลังถ้าเตรียมตัวไม่เต็มที่ พี่ปอยเตรียมความพร้อมโดยการลำดับความคิดและเรื่องราวในชีวิตที่คาดว่าผู้สัมภาษณ์อาจสนใจ ก่อนสัมภาษณ์ก็รู้สึกตื่นเต้นมาก แต่ก็พยายามทำใจให้สบาย ๆ
.
ผลสุดท้ายพี่ปอยก็ผ่านสัมภาษณ์ และได้รับโอกาสเข้าศึกษาที่ Harvard ในที่สุด (พี่ปอยแอบกระซิบมาว่า การสัมภาษณ์ของ Harvard ไม่ได้โหดร้ายหรือน่ากลัวมากอย่างที่หลายคนคิดกันนะ บรรยากาศเหมือนการพูดคุยกันปกติ)
.
จึงอาจกล่าวได้ว่า ในการไปเรียนต่อนั้น อยากให้ทุกคนลองยื่นสมัครมหาวิทยาลัยที่ตัวเองสนใจไปหลาย ๆ ที่เลย แม้ว่ามหาวิทยาลัยนั้นเราจะมองว่ามันอาจจะเข้ายากก็ตาม เพราะถ้าหากเทียบความพยายามในการสมัครกับโอกาสที่จะได้รับกลับมาหากสอบผ่านนั้น ถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมากที่จะลอง
.
.
.
#Mindsetและทักษะที่ได้รับจากการเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยระดับโลก
เริ่มแรกที่เข้าไปเรียนนั้น พี่ปอยก็มี culture shock เหมือนกัน เพราะการเรียนการสอนของที่ Harvard ค่อนข้างแตกต่างจากที่พี่ปอยเคยเรียนมาทั้งหมด เนื่องจากจะเป็นการเรียนแบบ Case method หรือก็คือเน้นเรียนแบบช่วยกันอภิปรายหาทางแก้ปัญหาจากเคสตัวอย่างต่าง ๆ ซึ่งคนที่นี่จะมีความกล้าพูดกล้าแสดงออกในสิ่งที่ตนคิดออกมาอย่างไม่เขินอายใด ๆ ทำให้ในช่วงแรกพี่ปอยที่ไม่กล้าพูดขนาดนั้น ก็ต้องปรับตัวเยอะพอควร แต่เมื่อปรับตัวได้แล้ว ก็ทำให้พี่ปอยได้ซึมซับความรู้และเปิดมุมมองต่าง ๆ ได้เต็มที่มากขึ้น
.
นอกจากนี้สิ่งที่พี่ปอยประทับใจในการไปเรียนที่ Harvard ก็คือ ที่มหาวิทยาลัยมักจะมีการเชิญผู้คนที่เกี่ยวข้องในแวดวงสายงานนั้นๆ หรือคนมีชื่อเสียงและหาตัวจับได้ยากมาบรรยาย เช่น Sheryl Sandberg ผู้เป็น COO ของ Facebook หรือ Muhammad Yunus ผู้ริเร่ิมการทำ Micro Finance ซึ่งการบรรยายแต่ละครั้ง ทำให้พี่ปอยได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ มากมายจากคนเหล่านั้น อีกทั้งยังได้รู้จักเพื่อน ๆ มากมายหลากหลายแบคกราว ทั้งที่มาจากต่างประเทศและต่างสายงานกันไป
.
ยิ่งไปกว่านั้น Harvard ยังได้ทำให้พี่ปอยได้ซึมซับวิธีการคิดวิเคราะห์ธุรกิจเหมือนการจำลองเป็นผู้บริหารในชีวิตจริง รู้จักวิธีการพูดต่อหน้าคนในสถานการณ์กะทันหันที่ไม่ทันได้มีเวลาเตรียมตัวมา และมีสกิลการจัดการเรียงลำดับความสำคัญของงานอีกด้วย (เพราะที่ Harvard มีทั้งคลาสเรียนและกิจกรรมที่น่าสนใจเกิดขึ้นพร้อมกันมากมายเต็มไปหมด ทำให้เราต้องประเมินความสำคัญของแต่ละอย่างให้ดีที่สุด!)
.
ซึ่งพี่ปอยอยากบอกน้องๆ ว่า ในชีวิตของเรานั้น เราไม่สามารถทำทุกอย่างไปพร้อม ๆ กันได้ ดังนั้นเราจึงต้องเรียงลำดับและเลือกสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ การบริหารจัดการความสำคัญจึงถือเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญมาก ๆ
.
.
.
#สิ่งที่พี่ปอยอยากฝากถึงน้องๆและคนที่อยากไปแลกเปลี่ยนทุกคน
.
เมื่อไหร่ก็ตามที่มีโอกาสใด ๆ เข้ามาในชีวิต พี่ปอยอยากให้น้อง ๆ ทุกคนเปิดโอกาสให้กับตัวเองอยากให้คิดในแง่บวก และลองทำมันดู เพราะถ้าเราไม่ลองลงมือทำ โอกาสสำเร็จก็จะเป็น 0% แน่นอน แต่หากเราได้ลองทำ โอกาสสำเร็จมันจะไม่มีวันลงมาเป็น 0% อีกต่อไป และไม่ว่าผลลัพธ์มันจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่ว่าเราจะสมหวังหรือผิดหวัง แต่ทุกสิ่งท่ีเกิดขึ้น ก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรบางอย่างกลับมาเสมอ ซึ่งบทเรียนตรงนั้นแหละที่จะทำให้เรากลายเป็นเราจนถึงทุกวันนี้
.
และอยากจะบอกว่าความสำเร็จของแต่ละคนก็มีนิยามเรื่องราวและหนทางที่แตกต่างกันไป ไม่อยากให้ไปกลัวสายตาตำหนิจากสังคมหรือจากใคร เพราะทุกคนก็ประสบความสำเร็จได้ในแบบของเราเอง ฉะนั้นอย่าไปกลัว และเริ่มลงมือกันเลยทุกคน!
.
หวังว่าทุกคนจะเปิดโอกาสให้กับตัวเอง ได้พบ ได้ลองเส้นทางใหม่ ๆ และได้เจอเส้นทางประสบความสำเร็จที่เหมาะสมกับตัวเราในที่สุดนะคะ
.
.
.
#ไปเเลกเปลี่ยนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ #ย้ายประเทศกันเถอะ #เเลกเปลี่ยนต่างประเทศ #เด็กเเลกเปลี่ยน #นักเรียนเเลกเปลี่ยน #เเลกเปลี่ยนเมืองนอก #ทุนต่างประเทศ #เรียนต่อต่างประเทศ #โยกย้ายส่ายสะโพก #ทำได้ทุกอย่างขอแค่อย่ายอมแพ้ #อย่าปิดโอกาสตัวเอง #อยากไปเเลกเปลี่ยนโว้ยย