สีทาบ้าน (Paint) คือสิ่งที่ช่วยให้ผนังบ้านมีความสวยงาม และรักษาพื้นผิวผนังจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น แดด ลม ฝน ความชื้น หรือแม้แต่ฝุ่นละออง ซึ่งสีทาบ้านมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น สีทารองพื้น สีทาภายนอก สีทาภายใน วันนี้ LifeSara จะพาทุกคนไปรู้จักกับสีทาบ้านให้มากขึ้น จะมีแบบไหนบ้าง จามไปดูกันเลยยย
การแบ่งชนิดของสีทาบ้าน
ก่อนที่จะเลือกสีทาบ้าน มาทำความรู้จักกับชนิดของเนื้อสีกันก่อน เพราะเนื้อสีแต่ละชนิด จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้
- สีน้ำอะคริลิค เกิดจากการนำกาวไปผสมกับแม่สี รวมถึงสารเติมแต่งอื่นๆ ที่ทำให้มีคุณสมบัติในการยึดเกาะ ทนต่อสภาวะอากาศ ไม่ละลายน้ำ และหลุดร่อนได้ยาก จึงเหมาะกับการใช้ในการทาอาคารหรือบ้านปูน งานคอนกรีต หรือกระเบื้องแผ่นเรียบ นอกจากนี้ยังแบ่งประเภทการใช้งานออกเป็นการใช้ทาภายใน และภายนอกด้วย ดังนั้นหากจะเลือกใช้สีอะคริลิค ต้องดูว่าพื้นผิวอยู่ด้านในหรือนอกอาคาร เพื่อให้เนื้อสีทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- สีน้ำมัน เกิดจากการนำน้ำมันชนิดหนึ่งไปผสมกับแม่สี ช่วยเพิ่มความแข็งแรง และการยึดเกาะเหมาะสำหรับการใช้ทาไม้หรือเหล็ก เพราะจะทำให้เงางามและทำความสะอาดได้ง่าย ก่อนใช้งานควรต้องผสมกับตัวทำละลายก่อน เช่น ทินเนอร์หรือนำ้มันสน
เลือกสีทาบ้านให้ถูกประเภทการใช้งาน
ต่อมาเป็นวิธีการเลือกสีทาบ้านให้ถูกประเภทการใช้งาน ซึ่งจะดูจากลักษณะพื้นผิวของผนัง โดยแบ่งพื้นผิวออกเป็น 3 แบบ คือ พื้นผิวปูน, พื้นผิวไม้ และพื้นผิวเหล็ก
- สีทาพื้นผิวปูน จะใช้สีน้ำอะคริลิคในการทา แบ่งตามลักษณะการใช้งาน ได้ดังนี้
- สีทารองพื้นปูน : ใช้สำหรับการทารองพื้นก่อนลงสีจริง เพื่อลดความเป็นกรดของปูน และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะของสีจริงให้คงทน โดยสีทารองพื้นปูน ก็ยังมีทั้งรองพื้นปูนเก่า และรองพื้นปูนใหม่ ตามลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันด้วย
- สีทาภายนอก : เป็นสีทับหน้าที่ใช้สำหรับการทาพื้นผิวปูนนอกบ้าน เช่น ผนังนอกบ้าน, หลังคา, ดาดฟ้า โดยมีส่วนผสมของเนื้อสีอะคริลิค ที่เพิ่มประสิทธิภาพให้มีความทนทานจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
- สีทาภายใน : ใช้สำหรับการทาพื้นผิวปูนในอาคาร เช่น ผนังห้อง, ฝ้าเพดาน โดยจะมีความเข้มข้นของเนื้อสีอะคริลิคที่เยอะ ทำให้มีฟิล์มสีมีความนุ่มนวล เงางาม และเรียบเนียน ทำความสะอาด เช็ดถูได้ง่าย และที่สำคัญคือกลิ่นไม่ฉุน
- สีทาผิวไม้ ใช้ทาประตูไม้ กรอบหน้าต่าง พื้นไม้ หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ โดยสีสำหรับงานไม้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- สีเคลือบไม้ : มีลักษณะเป็นฟิล์มโปร่ง เมื่อทาแล้วจะยังคงเห็นลวดลายของไม้ชัดเจนเหมือนเดิม แถมยังมีคุณสมบัติในการรักษาเนื้อไม้ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทนต่อสภาพอากาศ ป้องกันเชื้อราและการผุกร่อนของเนื้อไม้
- สีทาไม้ : ลักษณะเป็นฟิล์มทึบ ใช้สำหรับทาบนงานไม้ที่ต้องการปกปิดพื้นผิวที่เป็นตำหนิ หรือไม่ต้องการโชว์ลายไม้ ก่อนการใช้สีทาไม้ จะต้องลงสีรองพื้นไม้เพื่อป้องกันเชื้อราก่อน
- สีทาผิวเหล็ก นิยมใช้ทาบ้านหรืออาคารที่โชว์โครงเหล็ก ระแนงเหล็ก รั้วเหล็ก โดยที่เหมาะกับการใช้ทางานเหล็กมีอยู่ 2 ประเภท คือ
- สีกันสนิม : ทำหน้าที่เหมือนสีทารองพื้นปูน ที่ช่วยเพิ่มการยึดเกาะของสีน้ำมันกับพื้นผิวเหล็ก และป้องกันผิวเหล็กไม่ให้สัมผัสกับอากาศจนเกิดสนิมขึ้นได้ง่าย ๆ
- สีทาเหล็ก : คือสีน้ำมันที่มีลักษณะฟิล์มทึบ ใช้เป็นสีทับหน้างานเหล็กหลังจากลงสีกันสนิมเรียบร้อยแล้ว
สูตรคำนวณพื้นที่ทาสีทาภายนอกและสีทาภายใน
พื้นที่ห้อง – (พื้นที่ประตู+หน้าต่าง) / พื้นที่ใช้งานของสีต่อตารางเมตร = ปริมาณสีที่ต้องใช้
ตัวอย่างการคำนวณ
- ต้องการทาสีผนังห้อง 1 ด้าน กว้าง 4 x สูง 3 เมตร หรือ 12 ตร.ม.
- บนผนังมีประตู 1 บาน ขนาด 1 x 2 เมตร หรือ 2 ตร.ม.
- มีหน้าต่างขนาด 1.5 x 2 เมตร หรือ 3 ตร.ม.
- สี 1 แกลลอน มีพื้นที่ใช้งานประมาณ 30 ตร.ม ต่อครั้ง
- วิธีคำนวณ : 12 – (2+3)] / 30 = 0.23 ลิตร ต่อผนังห้อง 1 ด้าน
ที่สำคัญต้องคำนึงถึงพื้นผิวของผนังกับชนิดเนื้อสีที่เลือกใช้ ว่ามีการดูดซึมหรือการเคลือบผิวที่เหมาะกันหรือไม่ เพราะพื้นผิวบางชนิดอาจดูดซึมสีเยอะ ทำให้ต้องใช้สีในปริมาณที่มากขึ้น
สำหรับใครที่มองหา “วัสดุอื่นในการรีโนเวทบ้าน” ตามอ่านต่อตรงนี้ได้เลยยยย