First Jobber หรือ เด็กจบใหม่กับการทำงานครั้งแรก คงมีหลายคนเลยที่ไม่คาดคิดเลยใช่ไหมว่าจะถึงเวลาของเรา สำหรับการยื่นภาษี แอดเลยจะมาอธิบายขั้นตอนยื่นภาษีง่ายๆ สำหรับเด็กจบใหม่💪🏻

สำหรับการยื่นภาษี คือ ถ้ามีรายได้เกิน 120,000/ปี รวมทุกช่องทางที่ได้เงิน ต้องยื่นแบบแสดงรายการเงิน ปีละ 1 ครั้ง หมายความว่าใครเริ่มทำงานปีแรกในปี 2564 จะใช้ข้อมูลเงินได้ของปีก่อน นับตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2564 ถ้าเราเริ่มทำงานกลางปี เราก็นับเพียงช่วงที่เราทำงาน ณ เวลานั้นเท่านั้น

ซึ่งการเสียภาษีเนี่ย ไม่ใช่ว่าเรายื่นแล้วจะเสียภาษีเสมอไปนะ ถ้าใครเงินเกินที่เขากำหนดก็ต้องเสียภาษี 

โดยการยื่นภาษี(เฉพาะออนไลน์) เริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 เมษายน 2565 ใครที่ได้รับเงินเดือนตั้งแต่ปี 2564 ต้องรีบไปเช็คเลยนะ สำหรับวิธีการยื่นภาษีก็สามารถทำได้ง่ายมากก เพียงแค่คุณมีคอม หรือโทรศัพท์มือถือที่มีมีอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำได้แล้ว ใครที่ยิ่งทำเร็วเนี่ย ก็จะยิ่งได้เงินคืนภาษีเร็วขึ้นด้วยนะ

สำหรับขั้นตอนในการยื่น ภ.ง.ด 90/91 จะมีด้วยกัน 5 ขั้นตอน โดยใช้เวลาเพียงไม่นาน ประกอบไปด้วย

  1. กรอกข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้
  2. กรอกเงินได้
  3. กรอกค่าลดหย่อน
  4. ตรวจสอบข้อมูล
  5. ยืนยันข้อมูล

ก่อนจะให้เตรียมเอกสารการยื่นภาษี แอดจะมาแนะนำ 90,91 กันก่อนนะ เพราะเด็กจบใหม่ส่วนใหญ่จะเจอแต่สองประเภทนี้
✔️ภ.ง.ด 91 คือ เงินที่เราได้ทุกประเภท แบบมีหลายช่องทาง เช่น ขายของ, เงินเดือนหลัก, อาชีพเสริม
✔️ภ.ง.ด 90 คือ เงินได้หลักๆ ของเรา เช่น เงินเดือนที่เราได้รับจากบริษัททางเดียว

สำหรับการยื่นภาษีก่อนควรเตรียมเอกสารต่างๆ ให้พร้อมก่อนยื่นกรอกข้อมูล เพื่อการขอคืนภาษีได้ครบถ้วน หากเรากรอกข้อมูลผิดหรือเลขผิดพลาด อาจทำให้ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขและอาจเสียค่าธรรมเนียมในภายหลังได้ ยุ่งยากมากทีเดียว สำหรับเอกสารที่ควรเตรียมไม่ว่าจะเป็น

  • หนังสือรับรองการหักเสียภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) = ต้องไปขอจากบริษัทที่เราทำงานนะ เพื่อดูสรุปจำนวนเงินที่จ่ายให้เรา ว่ามีอะไรบ้างที่หักเงินได้ของเราไป และที่สำคัญเราจะรู้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของเราได้ด้วย แต่ก็มีอีกหลายบริษัท ที่เขายื่นให้เอง แต่ก็ลองไปถามบริษัทเผื่อไว้ก็ได้ ว่าเขาจะยื่นให้เราหรือเราต้องไปยื่นเอง
  • เลขบัตรประชาชนของผู้เสียภาษีของบริษัทที่ทำงานอยู่
  • เอกสารที่ใช้ลดหย่อนตัวเองและลดหย่อนภาษีต่างๆ เช่น บิดา มารดา อายุ 60 ปีขึ้นไป และรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ให้ใช้เลขบัตรประชาชนบิดามารดา, ใบเสร็จเบี้ยประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ/สะสมทรัพย์, กองทุน และเงินบริจาคต่างๆ

⚠️หากไม่ยื่นภาษี ไม่สนใจจะโดนอะไรบ้างน้า???

  • กรณีไม่ชำระภาษีในเวลาที่กำหนด จะเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องชำระ
  • กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด 90/91/94 ในเวลาที่กำหนด โทษอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
  • กรณีจงใจ แจ้งเท็จ หลักฐานเท็จ ฉ้อโกงเพื่อหลีกเลี่ยง โทษจำคุก 3 เดือนถึง 7 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาท
  • กรณีเจตนาละเลย โทษไม่เกิน 200,000 หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปล.1 สามารถยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรได้ที่เว็บนี้เลย
ปล.2 หากใครอยากทดลองฝึกยื่นภาษีก่อนยื่นจริง สามารถทดสอบได้ทางนี้เลยย

Cr.ข้อมูล : กรมสรรพากร, กรุงไทย, ไทยรัฐ

 1  

สมัครสมาชิก และกรอกข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้

ขั้นตอนยื่นภาษีง่ายๆ สำหรับเด็กจบใหม่ข้อแรก สำหรับใครที่ไม่เคยเป็นสมาชิกมาก่อน ให้คลิกที่สมัครสมาชิกในเว็บนี้ก่อนนะ โดยเริ่มแรกเขาให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชนและให้เราเลือกประเภทยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต่อไปเราต้องกรอกข้อมูลของตัวเองลง, กรอกตัวหนังสือหลังบัตร, หมายเลขโทรศัพท์มือถือ, ที่อยู่ เลือกยืนยันตัวตน และตั้งรหัสผ่าน หลังจากเข้าสู่ระบบ จะส่งระบบ OTP (One Time Password) เพื่อยกระดับยืนยันตัวตน ตั้งคำถามเมื่อลืมรหัส ป้องกันการทุจริต จากนั้นเขาจะส่งเข้ามาที่เบอร์โทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียน เพื่อยืนยันเลขที่ได้รับอีกครั้ง 

ใช้เวลาไม่นานจะแสดงหน้าจอสำหรับยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91 
สำหรับมือใหม่ ให้กดยื่นแบบ ภ.ง.ด 90/91 จากนั้นตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวที่ระบบดึงมาแสดงผล

Cr pic : กรมสรรพากร

 2  

กรอกเงินได้

เมื่อเราสมัครสมาชิกเรียบร้อย ขั้นตอนการยื่นภาษีง่ายๆ สำหรับเด็กจบใหม่ข้อต่อไป คือเขาจะถามเราว่าเราได้เงินมาจากที่ไหนบ้าง ให้เลือกกดระบุข้อมูลที่เป็นเงินได้ทั้งหมดของเงินหลักๆ ของเรา ที่ได้ข้อมูลมาจาก ​​ เอกสาร 50 ทวิ ที่ได้จากการจ้างงานทั้งหมด ทั้งงานประจำจากนายจ้าง หรือฟรีแลนซ์ใช้หนังสือ จากนั้นก็กดบันทึกและทำตามระบุที่มาเราก็กรอกไปตามที่เขา

ปล. สำหรับ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้นายจ้างภาษี ณ ที่จ่ายโดยอิงฐานเงินเดือนของพนักงานที่จะได้รับตลอดทั้งปี แล้วหักด้วยสิทธิหัก ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน ที่แจ้งว่าจะใช้สิทธิ์ตลอดทั้งปี 

*การหารเฉลี่ยตามจำนวนงวดที่จ่าย ค่าภาษีที่คำนวณได้ หาร จำนวนงวด = ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
**กรณีมีเงินได้จากหลายที่ให้บวกเงินได้ / ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทั้งหมด ส่วนเลขผู้จ่ายเงินได้ ให้ใช้บริษัทที่จ่ายเงินได้มากที่สุด

Cr pic : กรมสรรพากร

 3  

กรอกค่าลดหย่อน

ค่าลดหย่อน คือ รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้เราสามารถนำไปหักออกจากเงินได้ เพื่อที่เราจะได้เสียภาษีน้อยลง

ดูรายการลดหย่อนว่ามีอะไรบ้างได้ที่เว็บนี้เลย

กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
เช่น บุตร, อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีและมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี, เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา, อุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ

กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อน/ยกเว้น ด้านการออมและการลงทุน
เช่น เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, เงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ, เงินสมทบกองทุนประกันสังคม, เบี้ยประกันชีวิต/สุขภาพ/ชีวิตแบบบำนาญ, RMF, SSF

กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อน/ยกเว้น จากสินทรัพย์และมาตรการนโยบายภาครัฐ
เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่า หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย, เงินบริจาคพรรคการเมือง, ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต, ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร

กลุ่มที่ 4 เงินบริจาค เช่น เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา / สถานพยาบาล / สภากาชาด / อื่นๆ, เงินบริจาคการกุศลสาธารณะภาษีที่ได้ชำระไว้แล้ว

แนะนำว่าสำหรับ เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/สถานพยาบาล/สภากาชาด/อื่นๆ ให้กรอกตัวเลขเงินที่บริจาคจริง ซึ่งในหน้าสรุประบบ E-Filing จะคิดลดหย่อนให้เป็นสองเท่าอัตโนมัติ

ข้อระวังคือ เราต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนนั้นๆ ได้จริง หรือมั่วนิ่มกันแน่

Cr pic : กรมสรรพากร 

 4  

ตรวจสอบข้อมูล

อย่าเพิ่งเหนื่อยนะทุกคน ใกล้แล้วว สำหรับขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ต้องตรวจสอบให้ดีๆ นะ เลขทุกอย่างขอให้ตรง ตรวจให้ครบทุกรายการ อย่าผิดพลาดแม้แต่ตัวเดียว เพราะอาจทำให้เป็นเรื่องยุ่งยากมากๆ เมื่อเราตรวจสอบยอดตัวเลขแน่ใจแล้วคลิก ถัดไปเลยยย

ถ้ามียอดภาษีชำระไว้เกิน สามารถขอคืนเงินภาษี หรือ อุดหนุนภาษีให้แก่พรรคการเมือง ก็สามารถเลือกตามต้องการได้เลย แต่ถ้ามียอดที่ต้องชำระภาษีเพิ่ม แล้วภาษีจำนวน 3,000 บาทขึ้นไป กรมสรรพากรใจดีมีให้ผ่อนชำระภาษี 3 งวด งวดละเท่าๆ ซึ่งระบบจะคำนวณให้อัตโนมัติ

ผ่อนชำระภาษีงวดที่ 1 ชำระภายในวันที่ 8 เมษายน 2565

  • ผ่อนชำระภาษีงวดที่ 2 ชำระภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2565
  • ผ่อนชำระภาษีงวดที่ 3 ชำระภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2565

ซึ่งจะมีรายละเอียดข้อตกลงขอชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจ้งให้ทราบเมื่อคลิกผ่อนชำระ ทุกคนก็ควรอ่านให้ละเอียดถี่ถ้วนในทุกบรรทัดก่อนกดยอมรับ

Cr pic : กรมสรรพากร

 5  

ยืนยันข้อมูล

เมื่อกรอกแบบ ภ.ง.ด. 91, ภ.ง.ด. 90 เรียบร้อยแล้ว สามารถเลือกพิมพ์แบบ บันทึกร่าง หรือกดยืนยันเพื่อส่งแบบยื่นภาษี 2564 ได้ทันทีเลยนะ แล้วเราจะได้หน้าตาเหมือนแบบฟอร์มการยื่นภาษีที่มีช่องเล็กๆ หยิบย่อยไปหมด โดยเป็นสรุปข้อมูลที่เรากรอกไปตั้งแต่ขั้นตอนแรก แต่ตัวอักษรจะเล็ก ถ้าไม่มีแก้ไขข้อมูลคลิก ยืนยันการยื่นแบบ ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย 

ง่ายไหมล่ะทุกคน ถ้าเรามีเอกสารครบ การกรอกข้อมูลก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเอง แต่ถึงจะไวยังไงก็ควรที่จะตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนนะ ไม่งั้นถ้าเลขผิดล่ะก็ อาจต้องมีการยื่นคำร้องแก้ใหม่เลยทีเดียว ยุ่งยากมากไปอีก ดังนั้นทุกคนก็รอบคอบกันด้วยน้าา 😇

Cr pic : กรมสรรพากร