มาถึงเรื่องที่ 4 จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิธีประเมินความเสียหายและแนวทางแก้ไขซ่อมแซมบ้านเบื้องต้น เนื่องจากบ้านที่จะถูกรีโนเวทต้องมีอายุการใช้งานที่นานระดับนึง แน่นอนว่าสิ่งสำคัญก่อนที่เราจะลงมือรีโนเวท คือการตรวจเช็คสภาพของบ้าน ว่ามีจุดไหนที่ทรุดโทรมและต้องได้รับการปรับปรุงซ่อมแซม
วันนี้ LifeSara จะพาไปดูวิธีการตรวจเช็ค โครงสร้างบ้านและงานระบบ ว่าเราควรจะตรวจเช็คที่ส่วนไหน วิธีการเช็ค ด้วยตัวเองทำได้อย่างไร เมื่อพบปัญหาแล้วควรจัดการยังไงต่อ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันนน
โครงสร้างบ้านและงานระบบ
โดยจุดที่เราจะตรวจเช็คได้ด้วยตัวเองนั้น แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ งานโครงสร้าง งานระบบน้ำ งานระบบไฟฟ้า แต่ก่อนที่จะเช็คสภาพบ้านควรมีแบบก่อสร้างหรือแปลนบ้านอันเดิม เพื่อเช็คการเดินท่อน้ำดี-ท่อน้ำเสีย, การเดินท่อระบายน้ำ, ดูตำแหน่งการเดินสายไฟและสวิตช์ต่าง ๆ
งานระบบระบายน้ำ
การระบายน้ำภายในบ้านจะต้องใช้ได้ดีทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการระบายน้ำจากห้องน้ำ, การระบายน้ำของห้องครัว, การระบายน้ำฝน และสุดท้ายคือการระบายน้ำเสียจากบ้านออกสู่ท่อน้ำสาธารณะได้โดยไม่ติดขัด
- เช็คการระบายน้ำทุกจุด ทั้งห้องครัวและห้องน้ำ เช่น สุขภัณฑ์ต่าง ๆ, Floor Drain, ท่อระบายน้ำของเครื่องซักผ้า โดยเช็คว่าระบายน้ำได้ดีไหม ไม่อุดตัน
- เช็คทางระบายน้ำและความสะอาดของบ่อพักน้ำ ในจุดต่าง ๆ ตามแปลนบ้าน เพื่อตรวจสอบการเดินทางของน้ำก่อนระบายสู่ทางสาธารณะ
วิธีแก้ไขเบื้องต้น
- หากท่ออุดตันหรือบ่อพักสกปรก ให้เรียกช่างผู้เชี่ยวชาญมาลอกหรือทำความสะอาดท่อ
- น้ำไม่ไหลไปตามทางที่แบบก่อสร้างกำหนดไว้ ให้สังเกตทิศทางน้ำว่าระบายไปทางไหน และแก้ไขด้วยการทำทิศทางระบายน้ำใหม่
งานระบบไฟฟ้า
ระบบไฟฟ้าจะแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ ไฟฟ้าส่องสว่างและไฟฟ้ากำลัง ในงานรีโนเวทไฟฟ้าส่องสว่างแก้ไขไม่ยากและค่าใช้จ่ายไม่สูง แต่ระบบไฟฟ้ากำลังนั้นค่อนข้างสำคัญ ควรตรวจเช็คการตัดไฟวงจรของบ้าน ให้เรียบร้อย ว่ามีการลัดวงจรของไฟฟ้าหรือไม่ รวมไปถึงสภาพการใช้งาน เพราะระบบไฟฟ้าก็มีอายุการใช้งานเหมือนกัน
- เช็คการทำงานของไฟส่องสว่างทั้งหมด หากไฟเปิดไม่ติด สาเหตุอาจจะเกิดจากขั้วหลอดไฟเสีย หรือตัวหลอดไฟเสีย แก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนขั้วหลอดไฟ หรือจะเปลี่ยนหลอดเลยก็ได้ แนะนำให้ใช้เป็นหลอด LED เพราะประหยัดไฟและมีอายุการใช้งานที่นาน
- เช็คการทำงานของเครื่องตัดไฟและตู้ควบคุมวงจรไฟฟ้า วิธีการเช็คคือ หาปุ่ม Test (หรือบางรุ่นใช้คำว่า T) ที่เครื่องตัดไฟ หากกดลงแล้วเครื่องตัดไฟทำงาน สามารถตัดไฟได้ก็ถือว่ายังทำงานได้ปกติ หากเครื่องตัดไฟไม่ทำงานแนะนำให้ซื้อเครื่องตัดไฟใหม่ เพราะมีความอันตรายถึงชีวิต
งานโครงสร้างและการซ่อมแซมบ้าน
ในงานโครงสร้างบ้าน สิ่งที่เพื่อน ๆ ตรวจสภาพด้วยตัวเองเบื้องต้น คือ ตรวจสอบรอยร้าว ตรวจสอบการรั่วซึม และตรวจสอบการทรุดตัวของดินรอบบ้าน ว่ามีจุดไหนบ้างที่ควรได้รับการแก้ไขและปรับปรุง
การตรวจสอบรอยร้าวของโครงสร้าง ถือว่าเป็นจุดสำคัญมากที่จะส่งผลกระทบกับบ้านในระยะยาว โดยส่วนใหญ่รอยร้าวจะอยู่ที่ผนังและเสาบ้าน รวมถึงขอบหน้าต่างและประตู แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
- รอยร้าวที่ไม่กระทบกับโครงสร้าง เช่น รอยร้าวแตกเป็นลายงาตามผนังที่ไม่ลึก หรือเป็นรอยแตกตามขอบหน้าต่าง เป็นปกติในการยืดหดของปูน แก้ไขได้ด้วยการขัดสีและฉาบปูนปิดรอยร้าว จากนั้นทาสีใหม่ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
- รอยร้าวที่มีผลกระทบกับโครงสร้าง แนะนำให้สังเกตรอยร้าวที่เสา คาน พื้นและผนัง โดยมีวิธีสังเกตลักษณะของรอยร้าวดังนี้
- รอยร้าวผนังแนวเฉียง บ่งบอกถึงการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันของฐานราก หรือเกิดจากการต่อเติมอาคารผิดหลักการ
- รอยร้าวแตกลึกที่เสา เกิดจากการที่เสาต้นนั้นรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้เนื้อคอนกรีตกะเทาะออกมาจนเห็นเหล็กเสริมภายใน
- รอยร้าวเสาข้อปล้อง เกิดจากการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันของฐานราก จนทำให้เสาแอ่นตัว และเกิดรอยร้าวเป็นปล้อง ๆ
- รอยร้าวแนวดิ่งกลางคาน สาเหตุคือคานรับน้ำหนักมากเกินไปจนเกิดการแอ่นตัวลง
- รอยร้าวแนวเฉียงที่ปลายคานไปหัวเสา เป็นสัญญาณที่บอกว่าคานที่เกิดรอยร้าวรับน้ำหนักมากเกินไป เสี่ยงต่อการถล่มลงมา
- รอยแตกร้าวใต้ท้องพื้น หากรอยร้าวเป็นแนวยาว แสดงว่าพื้นรับน้ำหนักมากเกินไป แต่หากพบว่าคอนกรีตใต้พื้นแตกออกมาจนเห็นเหล็กเสริม แสดงว่ามีน้ำรั่วซึมจากผิวพื้นด้านบนเป็นเวลานาน จนทำให้เหล็กเสริมขึ้นสนิมและดันคอนกรีตจนแตกออกมา ส่วนใหญ่เกิดที่ใต้พื้นดาดฟ้าหรือพื้นห้องน้ำ
- รอยร้าวแนวยาวที่พื้น หากรอยร้าวเกิดชิดผนังเป็นแนวยาว สาเหตุเกิดจากถึงการทรุดตัวของฐานราก
วิธีแก้ไข คือปรึกษาวิศวกรโดยตรง เพื่อคำนวนและออกแบบโครงสร้างใหม่
ตรวจเช็คการรั่วซึม
การรั่วซึมสร้างปัญหาที่ทำให้หลายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจุดสำคัญอย่างการรั่วซึมบนหลังคา, พื้นชั้นสอง และห้องน้ำ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเสื่อมสภาพ หรือช่างทำงานไม่ได้มาตรฐานตั้งแต่แรก โดยตำแหน่งที่ควรเช็คการรั่วซึมจะแบ่งออกเป็น 3 จุดหลัก ๆ คือ
- ฝ้าเพดานชั้นบน ส่วนใหญ่เกิดจากกระเบื้องหลังคาแตกร้าว หรือปูนที่ฉาบผิวหลังคาคอนกรีตมีรอยแตกร้าว ทำให้น้ำฝนไหลเข้าสู่ตัวบ้านได้ วิธีแก้ไขคือหาจุดที่มีการแตกร้าวและทำการซ่อมแซม จากนั้นค่อยเปลี่ยนฝ้าเพดานใหม่
- ขอบวงกบหน้าต่าง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่ซิลิโคนเสื่อมสภาพ วิธีแก้ไขคือลอกซิลิโคนเก่าออกให้หมด จากนั้นยิงซิลิโคนใหม่อีกรอบ
- พื้นบ้าน เกิดจากการที่มีน้ำแทรกตัวอยู่ตามผนังหรือพื้น จะสังเกตุเห็นได้ชัดหากเป็นพื้นไม้ วิธีการแก้ไขคือ รื้อวัสดุปูพื้นออกเพื่อหาจุดที่รั่วซึม จากนั้นปิดรอยรั่วด้วยซิลิโคน หากพื้นมีการแตกร้าวให้ใช้ปูนฉาบ และปูพื้นใหม่
ตรวจสอบการทรุดตัวของดินรอบบ้าน
การทรุดตัวของดินรอบบ้าน สังเกตได้ง่ายโดยการดูสภาพแวดล้อมรอบบ้าน ดูว่าที่ดินข้างเคียงมีการขุดสระหรือถมดินสูงหรือไม่ เพราะอาจจะเกิดปัญหาบ้านทรุดตามมาได้ เนื่องจากความหนาแน่นของหน้าดินไม่เพียงพอ
ตอนถัดไปเป็นเรื่องของ การออกแบบบ้านขั้นพื้นฐาน จะมีอะไรบ้างดูได้ที่ลิงค์นี้เลย
สำหรับใครที่มองหา “ความรู้พื้นฐานในการรีโนเวทบ้าน” เรื่องอื่น ๆ ตามอ่านต่อตรงนี้ได้เลยยยย