เชื่อว่ามีเพื่อนๆ หลายคนที่ไม่เคยทำบัตรเครดิตมาก่อน จะต้องนั่งคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า หาข้อมูลแล้วหาข้อมูลอีก เพราะไม่แน่ใจว่าบัตรเครดิต ใช้ยังไง แล้วก็เผลอกลัวจะไปสร้างปัญหา ก่อภาระหนี้สินให้กับตัวเอง แน่นอนว่าเรื่องราวพวกนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเราทำถูกต้อง และซื่อสัตย์กับตัวเอง วันนี้พวกเรา Lifesara เลยไม่รอช้าที่อยากให้คนที่กำลังรู้สึกกังวลอยู่ว่าเราจะต้องจ่ายยังไงไม่ให้ติดหนี้บัตรเครดิต และมีเคล็ดลับอะไรบ้างที่จะทำให้ใช้บัตรเครดิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาไปติดตามกันเลยจ้า 

 1

เข้าใจวันตัดรอบบัญชีและวันชำระค่าบริการ

อย่างแรกที่จะทำให้เราเข้าใจ และเตรียมตัวได้นั่นก็คือวันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชำระบัตรเครดิต แน่นอนว่ามีใช้ก็ต้องมีจ่าย แล้วมีวันไหนบ้างล่ะ

วันตัดรอบหรือวันตัดบัญชี คือ วันที่ตัดยอดบัตรเครดิต โดยจะเป็นยอดสรุปทั้งหมดที่เราต้องจ่ายในวันชำระบัตรเครดิต 
วันชำระค่าบัตรเครดิต คือ วันที่เราต้องจ่ายชำระหนี้ หากพลาดวันนี้ไปก็จะทำให้เราเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั่นเอง 
ระยะเวลาปลอดหนี้ คือ ช่วงระยะเวลาชำระคืน โดยแต่ละธนาคารจะมีกำหนดระยะเวลาให้ นับจากวันแรกของรอบบัญชีไปจนถึงวันกำหนดชำระเงินหากชำระเต็มจำนวนตามวันครบกำหนด

 2  

ให้จ่ายเต็มจำนวน ห้ามจ่ายแบบชำระขั้นต่ำ

ข้อต่อมาสิ่งที่เราต้องรู้ต่อเลยก็คือ บัตรเครดิตจะมีให้จ่ายชำระถึง 2 ประเภท นั่นก็คือ จ่ายเต็มจำนวน กับจ่ายแบบชำระขั้นต่ำ ก่อนที่เราจะคลายสงสัยกันว่าทำไมจ่ายเต็มจำนวนถึงดีกว่า เราไปรู้ความหมายของแต่ละแบบกันก่อนเลย 

2.1 จ่ายเต็มจำนวน 
การจ่ายเต็มจำนวน หมายถึง การชำระยอดแบบจำนวนเต็ม โดยจะเรียกเก็บภายในรอบวันตัดบัญชี  เช่น ธนาคารส่งสรุปยอดค่าใช้จ่ายบัตรในวันตัดรอบบัญชีมาในวันที่ 17/5/2023 ครบกำหนดชำระวันที่ 02/6/2023 โดยจำนวนยอดของเดือนนั้นคือ 12,000 บาท แล้วชำระเข้ามาเต็มจำนวน 12,000 บาท เพราะแบบนี้เลยทำให้เราปลอดดอกเบี้ยนั่นเอง เพราะถือว่าในรอบบัญชีต่อไปจะไม่เกิดดอกเบี้ยนั่นเอง

2.2 การจ่ายชำระขั้นต่ำ
คือ การทยอยจ่ายแค่บางส่วนเท่านั้น ซึ่งบางส่วนที่ว่าของยอดจำนวนเต็มทั้งหมดของรอบบัญชี ขึ้นอยู่กับธนาคารที่เราทำอีกที เช่น ธนาคารส่งสรุปยอดค่าใช้จ่ายในวันตัดรอบบัญชีมา 12,000 บาท เราสามารถเลือกชำระขั้นต่ำ 10% เป็นเงิน 1,200 บาท โดยกรณีแบบนี้ถือว่าเป็นหนี้และค้างชำระ ธนาคารจึงต้องคิดดอกเบี้ยในรอบบัญชีต่อไป จากยอดเงินต้นคงค้าง และคำนวณจากวันที่ใช้จ่ายยอดในรอบบัญชีถึงวันครบกำหนดชำระ และคำนวณจนถึงวันสรุปยอดต่อไป

เพราะงั้นถ้าเกิดว่าเราผิดนัดจ่าย หรือจ่ายขั้นต่ำไปตลอด ดอกเบี้ยของยอดค้างชำระในแต่ละเดือนก็จะเพิ่มยอดมากขึ้น ทำให้จากที่เราต้องจ่ายของหมดไว เพราะว่าดอกเบี้ยจะถูกคำนวณทุกวัน กลายเป็นว่ายอดเงินมาเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าสิ้นสุด เพราะบัตรเครดิตจะคิดทันทีก็ตอนรูดใช้งาน ดังนั้นก่อนจะเกิดเรื่องไม่ดี อาจจะลองเปลี่ยนตัวเองให้ฝึกชำระเต็มจำนวน 

 3  

การจ่ายขั้นต่ำเป็นแค่ทางเลือกใช้จ่ายเท่านั้น

สำหรับใครที่อ่านข้อที่ 2 ก็น่าจะพอเข้าใจความหมายการจ่ายขั้นต่ำกันมากขึ้น เพราะการจ่ายขั้นต่ำเป็นสิ่งที่หลายคนไม่แนะนำให้ทำด้วยข้อเสียที่มากกว่าข้อดี แต่สำหรับบางคนการชำระขั้นต่ำก็มีขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ทางเลือกให้สำหรับคนที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินพร้อมๆ กัน หลายๆ ทาง ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมาก ที่จะช่วยให้วางแผนทางการเงินมากขึ้น และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้มากขึ้นนั่นเอง แต่ถ้ามองภาพรวมสำหรับการใช้หนี้แล้ว ช่างเป็นหนี้ดอกเบี้ยที่วนลูปในการเคลียร์ยอดให้จบ แถมยังทำให้ธนาคารอนุบัติบัตร หรือเพิ่มวงเงินต่อๆ ไปยากขึ้นด้วย

 4  

การจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ VS การผ่อนแบบ 0%

การจ่ายขั้นต่ำ
อย่างแรกที่เคยบอกไปว่า การจ่ายขั้นต่ำ คือการจ่ายขั้นต่ำ คือ การจ่ายชำระเงินส่วนนึงของยอดใช้จ่ายรวมทั้งหมด ซึ่ง % ขั้นต่ำก็จะแตกต่างกันออกไปแต่ละธนาคารกำหนด โดยปกติจะอยู่ที่ 10% ของยอดใช้จ่ายบัตร เพราะฉะนั้นถ้าเลือกจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ก็จะมีเงินต้นที่คงเหลือที่ถูกนำไปคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก

ซึ่งจะเหมาะกับคนที่มีปัญหาทางการเงิน แต่อีกมุมหนึ่งถ้าหากเราเลือกจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ยอดหนี้เก่า บวกดอกเบี้ย และหนี้ใหม่บวกดอกเบี้ย ก็จะทบไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะค่อยๆ เพิ่มยอดดอกเบี้ยมากขึ้น ทำให้มียอดใช้จ่ายบัตรเพิ่มขึ้นจนอาจจะเกิดภาระหนี้สินได้ อาจทำให้ใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะผ่อนหมด

การผ่อน 0%
สำหรับการผ่อน 0% จะต่างกับการจ่ายขั้นต่ำมาก เพราะการผ่อนคือการจ่ายตามจำนวนที่ตกลงกับทางเงื่อนไขธนาคารต่างๆ เอาไว้ ทันทีที่เรารูดบัตร ทางบัตรเครดิตจะจ่ายจำนวนเต็มให้ทันที ส่วนในเรื่องการผ่อน เราจะไม่ได้จ่ายโดยตรงกับทางร้านค้าแล้ว แต่จะผ่อนกับบัตรเครดิตแทน

เช่น ผ่อนโน๊ตบุ๊คที่ศูนย์ไอทีแห่งหนึ่ง เป็นจำนวน 35,000 บาท เราเลือกชำระเงินด้วยการผ่อน 0% 10 เดือน เท่ากับว่าเราต้องเอาจำนวนยอด 35,000 บาท หาร 10 เดือน เมื่อหารมาแล้วก็จะตกอยู่ที่ 3,500 บาท แสดงว่าเราต้องจ่ายจำนวนนี้เป็นระยะเวลา 10 เดือน ซึ่งระหว่างผ่อนจะไม่มีการเรียกเก็บเพิ่ม และจะไม่โดนดอกเบี้ย แต่อาจจะมีเก็บค่าธรรมเนียมนิดๆ หน่อยๆ  

 5  

ข้อควรระวังของการผ่อน 0%

เราน่าจะรู้ข้อดีของการทำบัตรเครดิตไปแล้ว แต่เรามาดูข้อเสียกันบ้างว่าอะไรคือข้อควรระวังในการผ่อนชำระ 0% 

  1. อย่าใช้เงินเกินกำลัง
    เพราะการผ่อนชำระเราต้องรู้จักกำลังเงินของตัวเองด้วยว่าเรามีเงินเพียงพอที่จะจ่ายเงินคืนในทุกงวดชำระหรือไม่ หรือในทุกการผ่อนชำระ เราต้องมั่นใจว่าการงานของเรามั่นคง
  2. มีค่าธรรมเนียมในการจ่าย
    สำหรับการชำระเงินผ่อนทุกครั้งไม่ใช่ว่าจะต้องเสียแค่ยอดเงินจำนวนเต็มเท่านั้น แต่ธนาคารยังคิดเป็น % ตั้งแต่ 3-5% หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับธนาคาร และจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการผ่อน 3,6,10 เดือนอีกด้วย 
  3. อาจทำให้ใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะผ่อนหมด
    เพราะหากมีหนี้สินอื่นอยู่แล้ว ก่อนที่จะก่อหนี้ก้อนใหม่ก็อย่าลืมดูว่าตัวเองมีหนี้มากเกินไปหรือเปล่า เพื่อที่จะไม่กระทบต่อรายจ่ายมากเกินไป อาจเกิดสภาพคล่องทางการเงินได้ และยิ่งผ่อนมากไปก็อาจต้องใช้เวลาผ่อนมากไปเรื่อยๆ 
 6  

สิ่งที่จะเกิดหากจ่ายยอดไม่ครบ/จ่ายเลท

เราอาจได้รู้ว่าการจ่ายขั้นต่ำนั้นมีข้อดีข้อเสียยังไง แต่คราวนี้เราจะมาลองดูในกรณีที่จ่ายไม่ครบ หรือจ่ายเลทกันบ้างว่าจะเกิดอะไรขึ้น 

  • ดอกเบี้ยสูงขึ้น เพราะถ้าจ่ายช้า หรือไม่ตรงเวลาก็จะมีดอกเบี้ยของเดือนนั้นๆ บวกไปด้วย จนกว่าจะเริ่มตัดยอดในเดือนต่อไป 
  • เสี่ยงประวัติไม่ดีในเครดิตบูโร 
  • เพิ่มวงเงินยากขึ้น
  • ยื่นสินเชื่อ หรือผ่อนของยากขึ้น 
  • ธนาคารจะมองว่ามีปัญหาทางด้านการเงิน
  • สูญเสียระยะปลอดดอกเบี้ย 
 7  

คำแนะนำใช้ยังไง ไม่ให้ติดหนี้บัตรเครดิต

7.1 วิธีการชำระบัตรให้ตรงเวลา
วางแผนการเงินของเราให้รอบคอบขึ้น เช่น แบ่งบัญชีสำหรับชำระค่าบัตรเครดิตโดยเฉพาะ แยกส่วนกับเงินเดือนที่ใช้ ตามปกติเลย ซึ่งจะทำให้เราสบายใจมากขึ้น ซึ่งมีหลายคนแนะนำมาว่า ถ้าอยากไม่ใช้เงินเกินตัว ให้สร้างบัญชีแยกหรือแบ่งโปรไฟล์บัญชีใหม่สำหรับชำระ

7.2 ชำระตรงเวลา เพื่อให้ไม่เสียดอกเบี้ย
ชำระให้ตรงตามกำหนดทุกครั้ง เพราะยิ่งเราชำระตรงเวลา ก็เหมือนเราได้ใช้บัตรเครดิตแบบปลอดดอกเบี้ย แถมยังสร้างเครดิตที่ดีให้กับตัวเองอีกด้วย 

7.3 ใช้จ่ายตามจำนวนเงินสดที่เรามี คำนวณลิมิตการใช้จ่ายแต่ละเดือน
ในส่วนนี้คิดว่าหลายคนน่าจะทำได้ง่าย ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นและมั่นใจว่ามีเงินสดเท่ากับยอดที่รูด นั่นก็คือใช้เงินตามที่เรากำหนด โดยถ้าเงินสดของเราแบ่งใช้จ่ายอยู่ที่ 15,000 เราก็ต้องใช้จำกัดแค่ 15,000 บาท เพราะนี้ยังไม่ได้รวมกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมายที่ทางธนาคารให้มาอีกก็เรียกได้ว่าใช้คุ้มแน่นอน 

7.4 ใช้บัตรเครดิตก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าคุ้มกว่าจ่ายเงินสด 
เราจะรู้ได้ยังไงว่าใช้บัตรเครดิตแล้วจะคุ้มกว่าจ่ายเงินสดตอนไหน ซึ่งในที่นี่อาจจะต้องดูสิทธิประโยชน์เงื่อนไขต่างๆ ของทางร้านค้าที่เรารูดซื้อว่า เขามีโปรโมชั่นอะไรที่สามารถเป็นผลประโยชน์ต่อเราได้ เช่น ร้านนี้มีโปรโมชั่นซื้อของในงบเท่านี้ ได้รับเงินคืนเท่าไหร่ ซื้อแล้วสามารถเอาคะแนนมาแลกแต้มได้ในอนาคต ซึ่งก็ถือว่าน่าสนใจเลยทีเดียว  เพื่อเอาคะแนนหรือแลกแต้ม

7.5 จ่ายเต็มจำนวน และห้ามจ่ายเกินวันสุดท้าย
อีกทริกที่ดีที่น่าไปใช้ตามกัน นั่นก็คือทุกครั้งที่มีการรูดบัตรหรือใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิต อย่าลืมจดทำบัญชี และรวมยอดการใช้จ่ายสม่ำเสมอทุกครั้งที่รูด วิธีนี้จะช่วยย้ำเตือนตัวเองมากขึ้น ว่าใช้ไปเท่าไหร่ พอกับวงประมาณที่ตั้งไว้ภายในเดือนนี้แล้วหรือยัง 

7.6 ไม่พร้อมจ่าย อย่ารูดบัตร
ทุกครั้งที่รูด หรือโอนเงินสดเท่ากับว่าเราลงทุนไปแล้ว ดังนั้นอยากให้ลองมองก่อนว่าสิ่งของที่เรากำลังรูดซื้ออยู่ในขณะนั้นมีคววามจำเป็นมากน้อยแค่ไหน อาจจะรูดซื้อสิ่งที่เป็น need มากกว่า want 


ถึงแม้ว่าการใช้บัตรเครดิตจะมีข้อดีกว่าข้อเสีย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้บัตรเครดิตที่ดีต้องเริ่มจากตัวเราเป็นอันดับแรก การจะใช้ให้คุ้มราคาก็ต้องมีวิธีการใช้ที่ถูกต้องเพื่อที่จะช่วยทำให้กิดผลประโยชน์สูงสุด ฉะนั้นแล้วหวังว่านี้จะเป็นวิธีการใช้บัตรเครดิตที่ดีที่สุดเลยล่ะ