ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเจอกับปัญหาเรื่องเงินเฟ้อกันอย่างหนัก ข้าวกะเพราหมูจากเมื่อก่อนที่ 20 บาท วันนี้ก็ปาไป 45 บาทแล้ว เห็นได้ชัดเจนเลยว่าเงินเฟ้อเป็นศัตรูตัวฉกาจกับระบบเศรษฐกิจ แล้วเราจะทำยังไงให้เอาชนะภาวะเงินเฟ้อนี้ได้ดี?? หนึ่งในวิธีการเอาชนะภาวะเงินเฟ้อ คือการนำเงินไปลงทุน ซึ่งการลงทุนแต่ละแบบก็จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเอาเงินฝากธนาคาร ความเสี่ยงก็จะต่ำ แต่ผลตอบแทนก็จะต่ำด้วย

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกการลงทุนที่จะเอาชนะภาวะเงินเฟ้อได้ โดยหนึ่งในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงและได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง นั่นก็คือ หุ้น นั่นเอง แต่การที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นหุ้น เราก็ควรที่จะศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนนะ!

วันนี้พวกเรา LifeSara เลยอยากพาทุกๆ คนมารู้จักกับ 20 หุ้นไทยใหญ่สุด โดยมี Market Cap. สูงสุดใน SET ซึ่ง Market Cap. คือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด โดยการคํานวณจาก ราคาปิดของหลักทรัพย์ คูณด้วย จำนวนหลักทรัพย์จดทะเบียนปัจจุบัน (Listed Shares) เป็นค่าที่บอกมูลค่าตลาดหรือขนาดของบริษัท โดยหุ้นขนาดใหญ่นั้นจะค่อนข้างมีความมั่นคง ส่วนหุ้นขนาดกลางและหุ้นขนาดเล็กนั้นหมายถึงการที่มีโอกาสเติบโต แล้วหุ้นไทยใหญ่ๆ แต่ละตัวนั้นจะเป็นยังไง ทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไรบ้าง และตอนนี้ราคาหุ้นอยู่ที่เท่าไหร่ จะเป็นยังไง เราไปดูกันเล้ยยยย…

*หมายเหตุ : ข้อมูลทั้งหมดอัปเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2565 และ อันดับของ Market Cap. มีการปรับเปลี่ยนทุกวัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
TradingView | หลักทรัพย์บัวหลวง | MoneyBuffalo | Prachachat | BrandInside | eFinanceThai

สำหรับใครที่กำลังมองหาเรื่องราวสาระอื่นๆ เชิญทางนี้ได้เลย
สรุปให้แล้ว Bitcoin โตขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ใน 10 ปีที่ผ่านมา!
รวม 7 เว็บไซต์ NFT สินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับนักลงทุนยุคใหม่
รวม 15 podcast การลงทุน ที่คนอยากลงทุนต้องดู
5 แอปออมทอง การลงทุนรูปแบบใหม่ ลงหลักร้อยได้ทองก้อนใหญ่!

 1 

AOT

เริ่มต้นกันด้วยหุ้นไทยอันดับที่ 1 หุ้น AOT ของท่าอากาศยานไทย (Airports of Thailand) หรือ ​AOT โดย AOT ถือเป็นหุ้นไทยขนาดใหญ่และมี Market Cap. สูงถึงประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งนับว่ามากที่สุดในประเทศไทยตอนนี้ และตัวบริษัทยังถูกจัดว่าเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 577 ของโลก โดยนับจาก Market Cap. อีกด้วยนะ

ท่าอากาศยานไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจสนามบิน โดยบริหารสนามบินรวม 6 สนามบิน ซึ่งมีทั้งสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสนามบินหลักในประเทศไทย และยังมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกด้วย

รายได้ 3 ทางหลักของท่าอากาศยานไทยมาจาก
1.รายได้บริการผู้โดยสารขาออก
2.รายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์
3.รายได้จากการให้บริการ

ราคาหุ้น AOT อยู่ที่ 74.00 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 2 

PTT

หุ้นไทยอันดับที่ 2 คือหุ้น  PTT เป็นหุ้นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่หลายๆ คนคุ้นเคยกันอยู่แล้วว่า เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันปิโตรเลียมครบวงจร และธุรกิจปิโตรเคมีที่เน้นการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก โดย ปตท. เป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มี Market Cap. สูงอยู่ที่ประมาณ 992,000 ล้านบาท  และเช่นเดียวกันกับท่าอากาศยานไทย ปตท.มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

รายได้หลักของปตท. มาจาก
1. ธุรกิจการค้าน้ำมันดิบระหว่างประเทศ
2. ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมัน
3. ธุรกิจน้ำมัน

ราคาหุ้น  PTT อยู่ที่ 35.5 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 3 

DELTA

หุ้นไทยอันดับ 3 หุ้น DELTA ของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่คนไทยจะรู้จักกันดีว่า เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เช่น พัดลมอิเล็กทรอนิกส์ EMI ฟิลเตอร์ โดยหุ้น DELTA มี Market Cap. สูงอยู่ที่ 780,000 ล้านบาท 

รายได้หลักของ DELTA มาจาก
1. กลุ่มผลิตภัณฑ์เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ คือ ออกแบบ ผลิต และจําหน่ายเพาเวอร์ซัพพลายสําหรับคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์
2.
กลุ่มผลิตภัณฑ์อัตโนมัติ คือ ออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบอัตโนมัติสําหรับภาคอุตสาหกรรมและอาคาร
3. กลุ่มผลิตภัณฑ์โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) คือ ออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานสําหรับเทคโนโลยีสื่อสารข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานสําหรับระบบพลังงาน

ราคาหุ้น DELTA อยู่ที่ 648 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 4  

PTTEP

หุ้นไทยอันดับ 4 คือ หุ้น PTTEP เป็นหุ้นของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด หรือมักจะเรียกกันว่า ปตท. สผ. ซึ่งเป็นบริษัทภายในเครือเดียวกับบริษัท ปตท.ที่เป็นอันดับ 2 โดยหุ้น PTTEP มี Market Cap. อยู่ที่ประมาณ 684,000 ล้านบาท เรียกได้ว่าถ้ารวมเครือบริษัท ปตท. นี่มี Market Cap. มากกว่าหุ้นของท่าอากาศยานไทยเยอะมากๆ เลยทีเดียว 

โดยปตท. สผ. มีรายได้จาก
– ทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ราคาหุ้น PTTEP อยู่ที่  174.5 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 5 

GULF

หุ้นไทยอันดับที่ 5 คือ หุ้น GULF ของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทย หุ้น GULF มี Market Cap. อยู่ที่ 586,000 ล้านบาท GULF เคยมีข่าวฮือฮาไปล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว นั่นก็คือการเข้าซื้อหุ้นบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ในสัดส่วน 42.25% ซึ่งความพิเศษคือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแม่ของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS

มีรายได้หลักจาก
1. ธุรกิจผลิตไฟฟ้า
2. ธุรกิจก๊าซ
3. ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
4. ธุรกิจพลังงานน้ำ
5. โครงสร้างพื้นฐาน 

ราคาหุ้น GULF อยู่ที่ 50.5บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 6 

ADVANC

หุ้นไทยอันดับที่ 6 หุ้น ADVANC เป็นหุ้นของบริษ้ทโทรคมนาคมหรือค่ายโทรศัพท์ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือ AIS นั่นเอง ซึ่งหุ้น ADVANC มี Market Cap. อยู่ที่ 555,000 ล้านบาท AIS เป็นบริษัทมหาชนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทย และเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศตามจำนวนผู้ใช้งานปัจจุบัน

รายได้หลักของ AIS มาจาก 3 ช่องทางหลักคือ
1. ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งตัวที่มาแรงแซงทางโค้งล่าสุดก็คือ AIS 5G ที่มีผู้ใช้กว่า 2 ล้านรายในปี 2021
2. ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือที่เรารู้จักกันในนาม AIS Fibre นั่นเอง
3. ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร

ราคาหุ้น ADVANC อยู่ที่ 185.5 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 7 

CPALL

หุ้นไทยอันดับที่ 7 คือ หุ้น ​CPALL ของบริษัทที่ทุกคนในประเทศไทยน่าจะต้องได้เคยมีส่วนเกี่ยวข้องสักครั้งในชีวิต นั่นก็คือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ อันดับ 1 ของประเทศไทย อย่าง 7- Eleven นอกจากนี้ ซีพี ออลล์ ก็เป็น 1 ในเครือ CP นั่นเอง โดย CPALL มี Market Cap. อยู่ที่ 525,000 ล้านบาท

รายได้หลักของ CP All มาจาก
1. ธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อ หรือ 7-Eleven
2. ธุรกิจให้บริการเป็นตัวแทนรับชําระค่าสินค้าและบริการ หรือ เคาน์เตอร์ เซอร์วิสที่เรารู้จักกันนั่นเอง

ราคาหุ้น CPALL อยู่ที่ 58.75 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 8 

BDMS

หุ้นไทยอันดับที่ 8 ต่อมาคือ หุ้น BDMS ของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือที่เราจะรู้จักกันดีในนามของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่เป็นเครือโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังของไทย ทั้งโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลสมิติเวช และอื่น ๆ ซึ่งหุ้น BDMS มี Market Cap. อยู่ทึ่ประมาณ 456,000 ล้านบาท 

รายได้หลักมาจาก
1.
รายได้จากค่ารักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลในเครือ
2. รายได้จากการจำหน่ายสินค้า
3.
รายได้อื่น ๆ เช่นบริการ Wellness

ราคาหุ้น BDMS อยู่ที่ 29.25 บาท 
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 9 

SCC

หุ้นไทยอันดับที่ 9 หุ้น SCC ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ SCG เป็นหุ้นไทยขนาดใหญ่ที่มี Market Cap. อยู่ที่ 385,000 ล้านบาท เป็นบริษัทที่มีธุรกิจหลักคือ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้เครือ SCG ยังมีบริษัทย่อยอีกหลายบริษัทเช่น บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ที่ให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรอีกด้วย

รายได้หลักมาจาก
1. รายได้จากการขายสินค้าและบริการ
2. รายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ
3. การพัฒนาสินค้าใหม่
4. Service Solution

ราคาหุ้น SCC อยู่ที่ 325 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 10 

MAKRO

อันดับที่ 10 หุ้น MAKRO ของ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือมักจะเรียกกันง่าย ๆ ว่าแมคโคร ซึ่งเป็นธุรกิจค้าส่ง ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีสาขาอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งขายสินค้าอุปโภคต่าง ๆ โดย หุ้น MAKRO มี Market Cap. อยู่ที่ 367,000 ล้านบาท

มีรายได้หลักจากสินค้าอุปโภค บริโภค และมีกลุ่มลูกค้า 3 กลุ่มหลักคือ 
1. กลุ่มผู้ค้าปลีกรายย่อย
2. กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม และธุรกิจจัดเลี้ยง
3. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจบริการ

ราคาหุ้น MAKRO อยู่ที่ 34.25 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 11 

SCB

หุ้นอันดับที่ 11 คือ SCB ของ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เป็นบริษัทแม่ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ SCBX เข้าถือหุ้นในธุรกิจต่างๆ และลงเล่นตลาดฟินเทคมากขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นบริษัท เทคโนโลยี โดยหุ้น SCB มี Market Cap. อยู่ที่ 356,913 ล้านบาท 

SCB ประกอบธุรกิจ 2 ทางหลัก ได้แก่
1. กลุ่มธุรกิจธนาคาร การเงิน และประกันฯ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์
2. กลุ่มธุรกิจ New Growth เช่น SCB 10X : ลงทุนใน Venture Capital ระดับโลก รวมทั้งมุ่งพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล

ราคาหุ้น SCB อยู่ที่ 105.5 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 12 

EA

หุ้นไทยอันดับที่ 12 คือหุ้น EA ของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่อาจเรียกได้ว่าเป็น Tesla ของเมืองไทย นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิต “แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน” ที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียนอีกด้วย โดยหุ้น EA มี Market Cap. อยู่ที่  356,215 ล้านบาท 

มีรายได้หลักจาก
1. กลุ่มธุรกิจไบโอดีเซล เช่น ผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล (B100)
2. กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
3. กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ (ผ่านบริษัทย่อย) เช่น ธุรกิจพัฒนา ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่

ราคาหุ้น EA อยู่ที่ 96.50 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 13 

KBANK

หุ้นไทยอันดับที่ 13 KBANK ของ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารที่มีแอพ Mobile Banking ชื่อ K Plus ที่หลายๆ คนน่าจะใช้งานกันอยู่แล้ว โดยธนาคารกสิกรไทยมีสาขามากกว่า 800 สาขา และมีผู้ใช้งานแอพ K Plus มากกว่า 18.5 ล้านราย โดยหุ้น KBANK มี Market Cap. อยู่ที่ 345,000 ล้านบาท

ช่องทางรายได้หลักมาจาก
1. รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 
2. รายได้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่รายได้ดอกเบี้ยเช่น รายได้สุทธิจากการรับประกันภัย และค่าธรรมเนียมรับต่างๆ

ราคาหุ้น KBANK อยู่ที่ 142 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 14 

OR

หุ้นไทยอันดับที่ 14 คือหุ้น OR ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ซึ่งจริง ๆ แล้ว OR นี่แหละคือ ธุรกิจที่ทำปั๊มน้ำมันอย่างสถานีน้ำมันภายใต้ PTT Station หรือปั๊ม ปตท.นั่นเอง โดยเมื่อย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2564 หุ้น OR เป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนมาก ๆ หลักจากประกาศกำหนดวันให้ประชาชนทั่วไปได้เริ่มจองซื้อหุ้นก่อนในวันที่ 24 ม.ค. 2564 โดยปัจจุบัน หุ้น OR มี Market Cap. อยู่ที่ 309,000 ล้านบาท

มีรายได้หลักจาก
1. ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน หรือ PTT Station 
2. ธุรกิจค้าปลีก หรือ Non-Oil​ Business หรือ Cafe Amazon
3. ธุรกิจในต่างประเทศ 

ราคาหุ้น OR อยู่ที่ 26 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 15 

CPN

หุ้นไทยอันดับที่ 15 คือหุ้น CPN ของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือเรียกกันว่า CPN ซึ่งเป็นบริษัท ประกอบธุรกิจหลักในการพัฒนา บริหารและให้เช่าพื้นที่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และประกอบธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจศูนย์การค้า ซึ่งศูนย์การค้าที่เราหมายถึงนั้น เป็นที่รู้จักในไทยเป็นอย่างดี อย่างห้างเซ็นทรัล โดยหุ้น CPN มี Market Cap. อยู่ที่ 297,000 ล้านบาท

รายได้หลักมาจาก
1. รายได้จากศูนย์การค้า ซึ่งมาจากรายได้ให้เช่าพื้นที่ปลีก รายได้การให้บริการสื่อโฆษณา ฯลฯ ซึ่งพวกเรา LifeSara อยากขยายความเพิ่มเติมว่า ผู้คนมักจะเข้าใจผิดว่ารายได้จากศูนย์การค้า ของ CPN จะมาจากการขายสินค้า แต่ในความเป็นจริงแล้วรายได้ที่มาจากการขายสินค้าในห้าง จะมาจาก เซ็นทรัล รีเทล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัลเช่นกัน
2. รายได้จากการอาคารสำนักงาน เช่นรายได้จากการเช่าพื้นที่
3. รายได้จากโรงแรมและอาคารที่พักอาศัย
4. รายได้ศูนย์อาหาร
5. รายได้การลงทุนในกองทุนรวมสิทธิการเช่า อสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์

ราคาหุ้น CPN อยู่ที่ 65.5 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 16 

BBL

หุ้นไทยอันดับที่ 16 คือหุ้น BBL ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากทรัพย์สินรวม โดยเป็นหุ้นไทยขนาดใหญ่ที่มี Market Cap. อยู่ที่ 271,000 ล้านบาท มีฐานลูกค้ากว้างที่สุดประมาณ 17 ล้านบัญชี โดยธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารไทยแห่งแรก ที่ริเริ่มเปิดสาขาในต่างประเทศ ครอบคลุมกว่า 14 ประเทศ และเราจะคุ้นเจ้าธนาคารนี้กันดี จากเครื่องที่แสดง QR Code การจ่ายเงิน เวลาที่เราไปสแกนจ่ายเงินตามร้านอาหารต่าง ๆ 

ธนาคารกรุงเทพมีรายได้จาก 
1. การสนับสนุนทางการเงินแก่ลูกค้าธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และ SMEs ในประเทศไทย
2. สินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ สินเชื่อโครงการ บริการรับฝากหลักทรัพย์ บริการเพื่อเอสเอ็มอีและร้านค้า 
3. บริการให้คำแนะนำทางธุรกิจ 
4. อื่น ๆ  

ราคาหุ้น BBL อยู่ที่ 144 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 17 

CRC

หุ้นไทยอันดับที่ 17 คือหุ้น CRC ของบริษัท บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) CRC ทำธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของไทย ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล โดยแรกเริ่มประวัติของ CRC เริ่มมาจาก คุณเตียง จิราธิวัฒน์ เริ่มการเปิดร้านค้าเล็ก ๆ ที่เป็นตึกแถวในกทม. ก่อนที่จะมาเป็นห้างเซ็นทรัลแห่งแรกในย่านวังบูรพาในที่สุด โดยหุ้น CRC มี Market Cap อยู่ที่ 242,000 ล้านบาท 

รายได้หลักของ CRC มาจาก 3 ช่องทางหลักได้แก่ 
1. กลุ่มแฟชั่น เช่น การขายสินค้าเครื่องแต่งกาย รองเท้า 
2. กลุ่มฮาร์ดไลน์ เช่น การขายสินค้าวัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งบ้าน
3. กลุ่มอาหาร เช่น การขายอาหารทั้งของสดและของแห้งในรูปแบบซูเปอร์มาร์เกต

ราคาหุ้น CRC อยู่ที่ 40.75 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 18 

KTB

หุ้นไทยอันดับที่ 18 คือหุ้น KTB ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธนาคารเก่าแก่ของไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในบริการหรือผลิตภัณฑ์ของธนาคารกรุงไทย ที่คนไทยจะคุ้นหูคุ้นตากันเป็นอย่างดี นั่นก็คือแอพ “เป๋าตัง” ที่เอาไว้ใช้สิทธิคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ 

โดยธนาคารกรุงไทยให้บริการลูกค้าทุกระดับ ทั้งลูกค้าบุคคล องค์กร สถาบัน ภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจและธุรกิจทุกขนาด ซึ่งหุ้น KTB มี Market Cap. อยู่ที่ 240,000 ล้านบาท

รายได้หลักของธนาคารกรุงไทยมาจาก
1. รายได้ดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อ
2. รายได้จากการดำเนินงาน
3. รายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย

ราคาหุ้น KTB อยู่ที่ 17.6 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 19 

BAY

หุ้นไทยอันดับที่ 19 คือหุ้น BAY ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีสำนักงานใหญ่แห่งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีเงินให้สินเชื่อและเงินฝากใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศ และเป็นธนาคารที่ให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจรแก่ทั้งลูกค้าธุรกิจ และลูกค้าบุคคล โดยหุ้น BAY มี Market Cap. อยู่ที่ 231,000 ล้านบาท

รายได้หลักมาจาก
1. รายได้ดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อ
2. รายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย

ราคาหุ้น BAY อยู่ที่ 31.75 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)

 20 

IVL

หุ้นไทยอันดับที่ 20 IVL ของบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในบริษัทระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีขั้นกลางและขนสัตว์ เป็นผู้นำในการผลิตผลิตภัณฑ์ PET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย โดยหุ้น IVL มี Market Cap. อยู่ที่ 227,000 ล้านบาท

รายได้หลักมาจากการขายได้แก่
1. พลาสติก PET
2. บรรจุภัณฑ์
3. เส้นไย
4. เส้นด้ายขนแกะ
5. อื่นๆ 

ราคาหุ้น IVL อยู่ที่ 41 บาท
(ข้อมูล ณ​ วันที่ 25/10/65)