เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ได้อ่านบทความนี้ที่อาจจะอยู่ในวัยที่ต้องเลี้ยงชีพตัวเอง ล้วนต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของประกันสังคมกันแน่ ๆ และยิ่งกับนักเรียน นักศึกษา ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยทำงาน เรื่องของประกันสังคม เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องรู้อย่างยิ่ง
ประกันสังคม ให้สิทธิประโยชน์มากมายกับผู้ที่ส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคม แต่ปัญหาก็คือสิทธิเหล่านี้มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ค่อนข้างเยอะ และอาจจะเข้าใจได้ยาก เพราะฉะนั้นพวกเรา Lifesara จึงรวบรวมข้อมูลสิทธิประกันสังคม ทุกมาตรา มาสรุปรวมให้เข้าใจง่าย บอกเลยว่าหายสงสัยแน่นอนนนนน!!!! ซึ่งก่อนที่เราจะไปดูกันว่าสิทธิของประกันสังคมมีอะไรบ้าง เรามาทำความรู้จักกับประกันสังคม และผู้ประกันตนกันก่อน
โดยประกันสังคมเป็นสวัสดิการที่ทางรัฐมอบให้แก่ลูกจ้าง โดยลูกจ้างและนายจ้าง ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมาย ซึ่งการจ่ายเงินนี้เราเรียกกันว่า “จ่ายเงินสมทบ” โดยที่การจ่ายเงินสมทบของลูกจ้าง จะเป็นการหักจากฐานเงินเดือน 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาท
ยกตัวอย่างเช่น นาย A มีเงินเดือน 30,000 บาท จะต้องโดนหัก 5% = 1,500 บาท แต่เนื่องจากมีการระบุว่า หักสูงสุดไม่เกิน 750 บาท ทำให้นาย A จึงโดนหักเพียงแค่ 750 บาท
ประกันสังคม จะเกี่ยวข้องกับบุคคล 3 กลุ่ม ประกอบไปด้วย
- ผู้ประกันตน
- นายจ้าง
- รัฐบาล
1
ผู้ประกันตนแต่ละมาตรา
ผู้ประกันตนคือใคร
ผู้ประกันตนจริงๆ แล้วก็คือ ลูกจ้าง พนักงานหรือคนทำงาน ที่เข้าร่วมสิทธิและจ่ายเงินสมทบระบบประกันสังคมนั่นเอง โดยผู้ประกันตนจะต้องเลือกสถานพยาบาลที่ตนเองสะดวก ตามสถานพยาบาลที่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยผู้ประกันตนจะแบ่งออกได้อีก 3 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะมีสิทธิประกันสังคม บางสิทธิที่ไม่เหมือนกัน และอาจมีสิทธิไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องรู้ว่าตัวเราเป็นผู้ประกันตนประเภทไหน ซึ่งแต่ละประเภทประกอบด้วย
- ผู้ประกันตนมาตรา 33
- ผู้ประกันตนมาตรา 39
- ผู้ประกันตนมาตรา 40
ผู้ประกันตนมาตรา 33
ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือผู้ที่เป็นลูกจ้าง หรือพนักงานประจำ โดยมีเงื่อนไขและคุณสมบัติคือ
- อายุมากกว่า 15 ปี แต่ไม่ถึง 60 ปี
- ทำงานในสถานประกอบการณ์ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
การจ่ายเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 33
สำหรับอัตราเงินสมทบของประกันสังคม มาตรา 33 ที่ผู้ประกันตนต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน จะคำนวณจากฐานค่าจ้างต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท ทั้งนี้ รัฐบาลจะออกเงินสมทบเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
- นายจ้าง ส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้างลูกจ้าง ขั้นต่ำ 83 บาท/เดือน และสูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน
- ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้าง ขั้นต่ำ 83 บาท/เดือน และสูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน
ผู้ประกันตนมาตรา 39
ผู้ประกันตนมาตรา 39 หรือเรียกอีกชื่อว่า ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ คือเป็นคนที่เคยทำงาน และเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อน แล้วออกจากงาน แต่อยากรักษาสิทธิประกันสังคมเอาไว้ โดยมีเงื่อนไขและคุณสมบัติคือ
- เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33
- ข่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน
- ออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน
- ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ
การจ่ายเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 39
เงินสมทบที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องนำส่งจะเท่ากับ 432 บาท/เดือน ทั้งนี้ ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบให้ครบทุกเดือนต่อเนื่องกัน ซึ่งหากไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ก็จะถือว่าสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ในทันที
ผู้ประกันตนมาตรา 40
ผู้ประกันตนมาตรา 40 คือคนทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นแรงงานนอกระบบ โดยมีเงื่อนไขและคุณสมบัติคือ
- เป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือ เป็นผู้ถือบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย ที่มีเลขประจำตัวหลักแรกเป็นเลข 0 หรือ 6 หรือ 7
- อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 65 ปี
- ไม่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39 หรือ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ
การจ่ายเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 40
มีด้วยกัน 3 ทางเลือก ได้แก่
- จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน
- จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน
- จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน
ซึ่งการจ่ายเงินสมทบที่แตกต่างกัน จะได้รับมีสิทธิที่ครอบคลุมกรณีที่แตกต่างกันไป
สิทธิประกันสังคม
สิทธิประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนแต่ละมาตรา จะมีความแตกต่างกันออกไป โดยหลัก ๆ แล้วจะมีด้วยกันทั้งหมด 7 เรื่องที่เป็นสิทธิประกันสังคม ซึ่งผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39 จะมีสิทธิที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยคือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะมีทั้งหมด 7 เรื่อง ในขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะมีทั้งหมด 6 เรื่อง ซึ่งสิทธิทั้ง 6 เรื่องนี้จะมีเงื่อนไข และผลประโยชน์แบบเดียวกัน แต่ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะไม่ได้รับสิทธิประกันสังคมในเรื่องของการว่างงาน
ในขณะที่สิทธิประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 จะแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย เรามาดูกันดีกว่าว่าสิทธิประกันสังคม แต่ละมาตรามีอะไรกันบ้าง
2
สิทธิประกันสังคม : กรณีเจ็บป่วย
(สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39)
สิทธิต่างๆ ที่ผู้ประกันตนจะได้สำหรับกรณีเจ็บป่วย
- มีสิทธิได้รับค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์ฯ กำหนดตามนี้
- มีสิทธิได้รับการฉีดวัคซีนตามสถานการณ์การระบาดของโรคที่กำหนดขึ้นในแต่ละปี
- สามารถเข้ารับบริการได้ที่ สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดสิทธิ
รูปแบบของการเจ็บป่วย
1. เจ็บป่วยปกติ
– ส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน จะได้รับบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลตามบัตรรับรอง
– สิทธิการรักษาพยาบาล คือ โรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกเองและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ปีละ 1 ครั้ง ช่วงเดือน มกราคม-มีนาคมของทุกปี
– โดยการเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษากับสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ และสถานพยาบาลเครือข่ายของสถานพยาบาล ตามบัตรรับรองสิทธิ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
- ยกเว้น 12 โรค ตามประกาศของสํานักงานประกันสังคมเท่านั้น เช่น การเสริมสวย การใช้สารเสพติด การจงใจทําร้ายตนเองหรือยินยอมให้ผู้อื่นทําร้าย การฆ่าตัวตาย
———————-
2. เจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ
– เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
– กรณี ไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและแจ้งโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ โดยเร็ว
– โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะต้องรับผิดชอบการให้บริการทางการแพทย์ต่อจากโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาล นับตั้งแต่เวลาที่ได้รับแจ้ง
– สําหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนการแจ้งฯ ซึ่งเป็นการสํารองจ่าย สํานักงานประกันสังคมจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุให้ดังนี้
- ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐ จ่ายให้ตามจริงตามความจําเป็นพร้อมค่าห้องค่าอาหารวันละไม่เกิน 700 บาท
- ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน จ่ายให้ดังนี้
- กรณีผู้ป่วยนอก ค่ารักษาพยาบาลจะจ่ายให้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินครั้งละ 1,000 บาท และจ่ายเพิ่มตามรายการการรักษาที่กําหนด
- กรณีผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลจะจ่ายให้วันละไม่เกิน 2,000 บาท ค่าห้องค่าอาหารไม่เกินวันละ 700 บาท
- กรณีฉุกเฉิน เบิกได้ปีละไม่เกิน 4 ครั้ง (ผู้ป่วยนอก 2 ครั้ง ผู้ป่วยใน 2 ครั้ง) กรณีอุบัติเหตุ ไม่จํากัดจํานวนครั้ง
———————-
3. ทันตกรรม
– ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด รับค่าบริการทางการแพทย์ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 900 บาท/ปี
– ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน รับค่าบริการทางการแพทย์ และค่าฟันเทียมตามที่จ่ายจริง โดย 1-5 ซี่ จะได้รับเงินไม่เกิน 1,300 บาท และมากกว่า 5 ซี่ขึ้นไป จะได้รับเงินไม่เกิน 1,500 บาท
– ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก กรณีฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง รับค่าบริการทางการแพทย์ และค่าฟันเทียมตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 2,400 บาท และกรณีฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง ไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
*หมายเหตุ : ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ จึงจะได้รับสิทธิ
3
สิทธิประกันสังคม : กรณีคลอดบุตร
(สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39)
ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร มีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้
สิทธิกรณีคลอดบุตร
- ผู้ประกันตนมีสิทธิเบิกคนละ 2 ครั้ง
- ค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย 13,000 บาท/ครั้ง (เริ่มตั้งแต่ปี 2550)
- ผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็น ระยะเวลา 90 วัน
ตัวอย่าง
- ผู้ประกันตนรายหนึ่งใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรคนแรก เมื่อปี 2547 หลังจากนั้นออกจากงานและได้กลับเข้ามาทํางานอีกครั้งเดือนธันวาคม 2550 โดยตั้งครรภ์มา 5 เดือน และคลอดเมื่อเดือนมีนาคม 2551 นับย้อนไป 15 เดือนจากเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ผู้ประกันตนรายนี้มีเงินสมทบเพียง 3 เดือน (จ่ายเงินตั้งแต่เดือนธันวาคม) จึงไม่มีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรคนที่ 2
4
สิทธิประกันสังคม : กรณีทุพพลภาพ/พิการ
(สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39)
ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนเดือนที่สํานักงานประกันสังคม กําหนดให้เป็นผู้ทุพพลภาพ และเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุจนถึงขึ้นทุพพลภาพ เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวานและมีภาวะแทรกซ้อนทําให้ตาบอดทั้ง 2 ข้าง หรือได้รับอุบัติเหตุจนถึงขั้นทุพพลภาพ พิการและไม่สามารถทํางานได้แล้ว
———————-
สิทธิที่จะได้รับ
– ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท
– เงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นรายเดือนโดยได้รับตลอดชีวิต
- เช่น ค่าจ้างเฉลี่ย/เดือน = 10,000 บาท 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย/เดือน = 5,000 บาท
– ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ และเข้ารับการฟื้นฟูในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานของสํานักงานประกันสังคมจะ มีค่าฟื้นฟูอีก 40,000 บาท
– เมื่อเสียชีวิตจะได้รับค่าทําศพ 40,000 บาท
– ได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย (ทายาท) หากเป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคมตามระยะเวลาที่กําหนด
– เงินที่ออมมาในกรณีชราภาพจะได้รับคืนทั้งหมด
5
สิทธิประกันสังคม : กรณีเสียชีวิต
(สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39)
กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ที่ไม่ได้มาจากการทํางาน เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายใน ระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต
———————-
สิทธิที่จะได้รับ
– ค่าทําศพ 40,000 บาท จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ
– เงินสงเคราะห์กรณีตาย มีเงื่อนไขรายละเอียดตามนี้
- หากผู้ประกันตนที่ตาย จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 3 ปี ทายาทหรือผู้มีสิทธิ จะได้รับเงินสงเคราะห์ 1.5 เท่า ของเงินเดือนที่นายจ้างของผู้ประกันตนที่เสียชีวิตมาจ่ายเงินสมทบ
- เช่น เงินเดือน 10,000 บาท รับเงินสงเคราะห์กรณี ตาย = 15,000 บาท
- หากผู้ประกันตนที่ตาย จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 10 ปี ทายาทหรือผู้มีสิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์ 5 เท่าของ เงินเดือน
- เช่น เงินเดือน 10,000 บาท รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย = 50,000 บาท
– เงินสงเคราะห์กรณีตาย จะจ่ายให้กับ
- บุคคลที่ผู้ประกันตนระบุให้เป็นผู้รับโดยการทําหนังสือระบุไว้
- กรณีไม่ได้ทําหนังสือระบุให้ใครเป็นผู้รับ จ่ายให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย คือ บิดา มารดา สามีหรือภรรยา บุตรโดยหารเฉลี่ยในอัตราคนละเท่า ๆ กัน
– จะได้รับเงินออมกรณีชราภาพ (ทายาทเป็นผู้รับ (ดูรายละเอียดในกรณีชราภาพ))
6
สิทธิประกันสังคม : กรณีชราภาพ
(สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39)
ผู้ประกันตนจะถูกหักเงินออมเข้ากองทุนชราภาพ 3% จาก 5% ต่อเดือนใน 7 สิทธิประโยชน์
ตัวอย่างเช่น มีเงินค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท ถูกหัก 5% ต่อเดือน คือ 500 บาท จะเป็นเงินออมของกองทุน ชราภาพ 300 บาท/เดือน ซึ่งในกองทุนนี้นายจ้างจะจ่ายสมทบออมอีก 300 บาท/เดือน รวมเป็นเงินออมชราภาพ 600 บาทต่อเดือน
โดย ผู้ประกันตนจะได้รับเงินกลับคืนมาเป็น “เงินบําเหน็จชราภาพ” หรือ “เงินบํานาญชรา ภาพ” แล้วแต่กรณี
– ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจะจ่ายเมื่อผู้ประกันตนอายุ 55 ปีบริบูรณ์
– ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือตาย หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ (ไม่ได้ทํางานแล้วหรือลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39)
———————-
ประโยชน์ทดแทน
– เงินบำนาญชราภาพ คือเงินที่จะได้รับเป็นรายเดือน
- จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 15 ปี
- หากเสียชีวิตภายใน 5 ปี หลังการรับเงินบำนาญจะมีบำเหน็จตกทอดให้ทายาท 10 เท่าของบำนาญรายเดือนที่รับอยู่
- การคำนวนจะแบ่งเป็น
- จ่ายเงินสมทบครบ (15 ปี) รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือน 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
- จ่ายเงินสมทบมากกว่า 15 ปีขึ้นไป รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือนเพิ่ม 1.5% จากอัตรา 20% ในปีที่เกินปีที่ 15
– เงินบำเหน็จชราภาพ คือเงินที่ได้รับเป็นก้อนครั้งเดียว
- จ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะในส่วนของผู้ประกันตน เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ
- จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ พร้อมผลตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
7
สิทธิประกันสังคม : กรณีสงเคราะห์บุตร
(สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39)
ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน มีสิทธิยื่นขอรับเงินสงเคราะห์บุตรได้ คือ
- สําหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น ตั้งแต่ แรกเกิด – 6 ปีบริบูรณ์
- ได้ครั้งละ 2 คน ไม่จํากัดจํานวนครั้งตามลําดับ เช่น มีบุตร 3 คน อายุ 5 ขวบ, 4 ขวบ, 3 ขวบ ให้ยื่นขอรับสิทธิบุตรอายุ 5 ขวบ และ 4 ขวบ ก่อนเมื่อบุตรคนแรกครบ 6 ขวบให้ยื่นบุตรคนต่อไปแทน
- สําหรับบุตร รับคนละ 400 บาท/เดือน โดยสํานักงานประกันสังคมจะโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ธนาคารของผู้ประกันตนเป็นรายเดือนจนกว่าบุตรอายุ ครบ 6 ปีบริบูรณ์
———————-
การหมดสิทธิ
- เมื่อบุตรครบ 6 ปีบริบูรณ์หรือเสียชีวิต
- ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
8
สิทธิประกันสังคม : กรณีว่างงาน
(สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33)
สำหรับสิทธิประกันสังคมในกรณีนี้จะเป็นสิทธิที่ได้รับเฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 33 เท่านั้น ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะไม่ได้รับสิทธิกรณีนี้
โดยเมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือนแล้วถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย (ยกเว้นการถูกเลิกจ้างเพราะละทิ้งหน้าที่โดยไม่มี เหตุผลอันควร) หรือหากผู้ประกันตนลาออก จะต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานที่สํานักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเภท ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ออกจากงานเพื่อที่จะหางานทําใหม่ และต้องไปรายงานตัวกับสํานักงานจัดหางาน เดือนละ 1 ครั้ง
หากยังไม่ได้งานทํา จะได้รับประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้ระหว่างการหางานทําใหม่ ดังนี้
- ถูกเลิกจ้าง จะได้รับ 50% ของค่าจ้าง ระยะเวลาการจ่ายไม่เกิน 6 เดือน ภายใน 1 ปีตัวอย่าง ผู้ประกันตนเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท
- ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกําหนดระยะเวลา จะได้รับ 30% ของค่าจ้าง ระยะเวลาจ่ายไม่เกิน 3 เดือน
9
สิทธิประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40
สิทธิประกันสังคมของผู้ประกันตน มาตรา 40 จะถูกแบ่งรูปแบบออกเป็น 3 รูปแบบด้วยกันคือ
จ่ายเงินสมทบ 70 บาท
ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายเงินสมทบ 30 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 100 บาท โดยได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณีคือ
- เงินทดแทนเมื่อเจ็บป่วย วันละ 300 บาท
- เงินทดแทนเมื่อทุพพลภาพ 500 – 1,000 บาทต่อเดือน
- เงินค่าทำศพ 25,000 บาท และเงินสมทบอีก 8,000 (กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน)
———————-
จ่ายเงินสมทบ 100 บาท
ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ
- เงินทดแทนเมื่อเจ็บป่วย วันละ 300 บาท
- เงินทดแทนเมื่อทุพพลภาพ 500 – 1,000 บาทต่อเดือน
- เงินค่าทำศพ 25,000 บาท และเงินสมทบอีก 8,000 (กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือนก่อนเสียชีวิต)
- เงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปี เมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน
———————-
จ่ายเงินสมทบ 300 บาท
จ่ายค่าประกันตน 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท แต่จะได้รับความคุ้มครองมากถึง 5 กรณี คือ
- เงินทดแทนเมื่อเจ็บป่วย ถ้านอนโรงพยาบาลจะได้รับวันละ 300 บาท
ถ้าแพทย์สั่งให้หยุดงาน 3 วันขึ้นไป แต่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล จะได้รับวันละ 200 บาท - เงินทดแทนเมื่อทุพพลภาพ 500 – 1,000 บาทต่อเดือน (ตลอดชีวิต)
- เงินค่าทำศพ 50,000 บาท
- เงินสงเคราะห์บุตรคนละ 200 บาทต่อเดือน ตั้งแต่แรกเกิด ถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ (ไม่เกิน 2 คน)
- เงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปี จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน