เข้าโค้งสุดท้ายก่อนหมดหน้าหนาวแบบนี้ ใครๆ ก็อยากจะไปสูดอากาศยอดดอย🗻ให้ชื่นใจก่อนจะไม่เหลือไอเย็นอีกต่อไป!😄 แต่การขับรถขึ้นเขา ก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ😱 เพราะเราก็อาจจะมีเห็นตัวอย่าง จากทั้งคลิปวีดีโอ ทั้งโพสต์โอดครวญถึงคนที่ขับรถไม่ชำนาญแล้วขึ้นไปเกิดอุบัติเหตุบ้าง สร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนร่วมทางบ้าง พอดูๆ ไปแล้วการเที่ยวเขาสูงอาจเริ่มดูไม่เป็นมิตร😒

แต่ไม่ต้องกลัวไป เพราะวันนี้พวกเรา Lifesara มีเทคนิคการขับรถขึ้นเขามาฝาก😀 ทั้งจากปากคำผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์โชกโชนของพวกเราเอง รับรองเลยว่าโพสต์นี้จะตีแผ่วิธีขับรถทางชันอย่างละเอียดยิบให้ทุกคนได้ไปแตะขอบฟ้าชมวิวเขาให้จุใจไปเลยแบบชิววๆๆๆ!🚘🚩

  1  

ตรวจสอบเส้นทาง (กันเน็ตหลุด/คำเตือนความยาก/เช่ารถท้องถิ่น)

ต้องบอกก่อนเลยว่า ถนนทุกเส้นไม่ได้ขับยากง่ายเหมือนกัน ถ้าคนเคยเที่ยวสวนผึ้ง เที่ยวเมืองกาญจน์ พอไปเจอถนนจากเชียงใหม่ไปตีนเขาแม่กำปองอาจจะรู้สึกว่ายากแค่พอให้ตื่นเต้น แต่จากลานจอดรถชาวบ้านขึ้นไปยอดดอยนั้น บอกเลยว่าความยากห่างกันฟ้ากับเหวเลยเชียว 

เพราะฉะนั้นขั้นตอนแรกเลยคือเราต้องศึกษาเส้นทางอย่างรอบคอบ สถานที่เที่ยวบางแห่งอาจจะมีคำเตือนชัดเจนเลยว่า ถนนขับยากมากควรเช่ารถท้องถิ่นแทน แอดขอบอกเลยว่าอย่าคิดว่าเขาหลอก เพราะถ้ามันขับง่ายจริง ทุกคนเขาก็ขับเองไม่มีใครมาขึ้นรถเช่าซะจนเป็นงานหลักชาวบ้านได้หรอก ถนนตอนขับขึ้นไปอาจจะดูชิวๆ แต่พอถึงที่หมายแล้ว โอละพ่อกลายเป็นถนนปูนเลนเดียวไต่เขาหน้าตั้งไปซะงั้น และขอเตือนเลยว่าถนนแนวนี้มีเยอะกว่าที่คิดนะ!

นอกจากนี้ ฤดูกาลก็ส่งผลกับความยากง่ายของเส้นทางเช่นกัน ฤดูฝนนี่คือศัตรูหมายเลขหนึ่งของการขับรถบนเขาเลย เพราะนอกจากถนนจะลื่นมากจนทำให้เบรคไม่อยู่แล้ว ดินอุ้มน้ำยังอาจจะทำให้ดินถล่มลงมาปิดจนทางขาดได้ หรือถ้าโชคร้ายก็หล่นลงมาใส่รถที่ขับอยู่ได้ด้วย หรือต่อให้ไม่มีฝน แต่พยากรณ์อากาศระบุว่ามีหมอกลง ถนนบนยอดเขาสูงก็สามารถมีเมฆหมอกบนถนนที่หนามากจนมองไม่เห็นหน้ารถตัวเองด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นต้องเช็คข่าวพยากรณ์อากาศร่วมด้วยน้า

ท้ายที่สุดคือถ้าเป็นไปได้ควรดาวน์โหลดเส้นทาง gps ลงมาเป็นออฟไลน์ด้วยนะ เพราะจะใช้อินเตอร์เน็ตค่ายไหนก็ตาม ถ้าเข้าช่วงเขาลาดชันแล้วมีสิทธิ์ดับหมดจ้า แล้วเกิดแมพไม่โหลดกลางทางขึ้นมา แต่มีออฟไลน์เก็บไว้ก็ยังพอดูเองเอาได้ แต่ถ้าไม่มีเก็บไว้ ถึงกลางเขาขึ้นมาอาจจะเกิดอาการกลับตัวไม่ได้ไปต่อไม่ถึงกันเลยทีเดียว

  2  

ตรวจสมรรภภาพรถ (และตัวเอง)

ดูถนนกันไปแล้วก็ต้องมาดูตัวเองกันบ้าง คนขับอย่าลืมดูใบขับขี่ตัวเองกันน้า ว่าล็อคดาวน์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ลืมต่อใบขับขี่กันรึเปล่า แล้วรถที่จะเอาไปขึ้นเขานั้น ขอบอกเลยว่าต้องเนี๊ยบ เพราะถ้าไปเกิดเหตุฉุกเฉินกลางทางขึ้นมา นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ร่วมทางคนอื่นๆ แล้ว เหตุฉุกเฉินนั้นอาจจะนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้นะ 

ก่อนอื่นเลยขอบอกว่า “รถยนต์ไม่ได้ขึ้นเขาได้ทุกคัน” เพราะซิตี้คาร์คันน้อยๆ ที่ประหยัดน้ำมันในเมืองของเรา อาจจะไม่มีกำลังเครื่องยนต์มากพอ ที่จะพาทั้งตัวเราและสัมภาระขึ้นไปยอดดอยไหว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ารถกระบะเท่านั้นที่มีสิทธิ์ขึ้นเขานะจ๊ะ รถเก๋งรถสปอร์ตทุกยี่ห้อก็ขึ้นได้หมด ถ้าเขาไม่ได้บรรทุกเกินอัตราและสภาพเครื่องยนต์พร้อมลุย

ทว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ รถกำลังน้อยจะทำให้ความยากในการขับรถขึ้นเขาเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะถ้าคุณเจอทางขึ้นเขายาวเป็นกิโล แต่มีเหตุให้ลดความเร็วระหว่างทางล่ะก็ มีแต่กำลังเครื่องของรถเท่านั้นที่จะพาเราไปถึงจุดหมาย เพราะงั้นถ้าอีแก่ของเราท่าจะไม่รอดจริงๆ แอดแนะนำไปเช่ารถใกล้ๆ จะดีกว่า

ถ้ามั่นใจว่าเครื่องพร้อม คนพร้อม งั้นก็เหลือแค่ฟิตรถฟิตคนขับก่อนออกเดินทาง ลมยางควรเติมให้เหมาะสมตามขนาดยาง เพราะลมอ่อนไปก็ทำให้รถต้องใช้แรงมากขึ้น แต่ลมมากไปจะทำให้รถกระแทกกระดอนมากเกินไป

ที่ปัดกระจกต้องพร้อมเพื่อรักษาทัศนะวิสัยบนถนน ไฟรถต้องพร้อมทุกส่วนเพราะการให้สัญญาณบนทางเขาเป็นเรื่องสำคัญ และที่สำคัญที่สุดคือน้ำมันรถต้องเติมให้เต็มก่อนขึ้นเขา เพราะนอกจากจะไม่มีปั้มน้ำมันอยู่บนเขาแล้ว การขับรถขึ้นเขาจะกินน้ำมันกว่าปกติ จึงควรทำให้รถอยู่ในสภาพพร้อมที่สุดเพื่อรับมือกับทุกสถานการณ์ได้อย่างมั่นใจ

  3  

เร่งความเร็วเตรียมขึ้นทางชัน (แต่ไม่เกินความสามารถของเรา)

เพื่อช่วยเพิ่มแรงส่งให้รถ ถ้าเราอยู่บนทางราบแล้วเห็นทางชันขึ้นข้างหน้า ควรเร่งความเร็วเพื่อเพิ่มแรงส่งให้รถ ข้อนี้สำคัญมากหากเราใช้รถกำลังน้อยหรือบรรทุกน้ำหนักมาก เพราะถ้าเป็นทางขึ้นเขาที่ชันมากๆ หรือยาวมากๆ ถ้าต้องเริ่มต้นทำความเร็วกันใหม่กลางทาง รถจะต้องใช้แรงเครื่องหนักมาก ถ้าโชคร้ายสุดๆ น้ำหนักรถมันเกินกว่ากำลังของรถละก็ เหยียบจนสุดคันเร่งรถก็อยู่กับที่อยู่ดี พอผ่อนปุ๊บก็ไหลลงทันที อันนี้จะอันตรายมากๆ ทั้งกับตัวเราและคนข้างหลังเลยเชียว

แต่ไม่ใช่ว่าเห็นทางขึ้นแล้วให้เหยียบคันเร่งมิดนะทุกคนน ที่สำคัญคือต้องไม่เร็วเกินเหตุหรือเกินกว่าความสามารถในการควบคุมรถของเราเอง ส่วนใหญ่จากประสบการณ์ของแอดเองไม่เคยเร่งความเร็วเกินร้อยหรอกนะ ถ้าเห็นป้ายเตือนทางขึ้นยาว เร่งขึ้นไปสักเก้าสิบก็เอาอยู่ 

เพราะจุดสำคัญของการเร่งเครื่องคือช่วยทุ่นแรงเครื่องยนต์ในการไต่ทางชันต่างหาก เครื่องยนต์จะต้องใช้กำลังมากกว่าเดิมเพื่อรักษาความเร็วบนทางชัน แต่เพราะความเร็วเราสูงมาแต่เดิมทำให้รถเราใช้กำลังเครื่องน้อยกว่าการเริ่มต้นที่ความเร็วต่ำๆ ถ้าเรากำลังไต่ทางขึ้นแล้วรอบเครื่องพุ่งไปไกลมากแต่ความเร็วไม่เพิ่มขึ้นละก็ นั่นแปลว่าแรงส่งรถไม่พอนั่นเอง

เพิ่มเติมอีกนิดดให้กับคนขับเกียร์ออโต้ คือถ้ารถที่เราใช้มีเกียร์ S อยู่ละก็ นี่คือโอกาสทองที่จะได้ใช้เกียร์ที่ปกติหลายคนไม่เคยแตะ เพราะเกียร์ S จะตัดรอบเปลี่ยนเกียร์สูงขึ้นช้ากว่าปกติ เพื่อทำให้รถมีกำลังมากขึ้น ถ้าใช้บนทางราบปกติ เกียร์นี้เหมาะสำหรับแค่เร่งแซงเท่านั้น แถมกินน้ำมันกว่าปกติอีกต่างหาก แต่ในการขึ้นเขาที่ต้องใช้กำลังรถมากกว่าปกติ เกียร์ S เขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้เลยยย

  4  

ทางลงยาวให้ใช้เครื่องดึงสลับเบรค (เกียร์ 1/2/3/L)

มีคนเยอะมากกกเลยที่บอกว่าขาลงมันง่ายกว่าขาขึ้น เพราะไม่ต้องกลัวรถมันหมดแรงแล้ว แต่แอดขอบอกเลยนะว่าอย่าประมาททางลงเด็ดขาด เพราะอุบัติเหตุแรงๆ ที่มักเกิดขึ้นบนทางภูเขาก็คือขาลงนี่แหละ 

ถ้าใครเคยได้ไปเที่ยวภูเขาช่วงเทศกาล รับรองว่าขาลงต้องเคยได้กลิ่นไหม้แน่นอน ถ้าไม่ใช่ตัวเองก็ของคนอื่นที่ทิ้งไว้ให้ดมต่างหน้า นั่นก็เพราะใครซักคนเหยียบเบรคค้างจนเบรคไหม้ไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง แต่ถ้าไม่เหยียบเบรคแล้วจะคุมความเร็วได้ยังไง เดี๋ยวแอดจะอธิบายให้ฟัง

ความจริงแล้วการขับรถลงเขาจะต้องใช้เบรค “สลับ” กับเกียร์ต่ำ ถ้าใครขับรถเกียร์ธรรมดาอยู่แล้วก็จะรู้ว่าต้องใช้เกียร์ต่ำเพื่อขึ้นเขาแต่แรก แต่ปัจจุบันที่รถส่วนใหญ่เป็นเกียร์ออโต้ เวลาขึ้นเขารถจะปรับเกียร์ได้เองไม่ต้องสับเกียร์ให้ยุ่งยาก แต่เพราะรถปรับเกียร์เองนี่ล่ะที่ทำให้เกียร์ออโต้ไม่ช่วยลดความเร็วเวลาลงเขา 

แต่ความจริงผู้ผลิตรถเขาคิดมาให้เรียบร้อยแล้ว กับเกียร์ L นั่นเอง เพราะเกียร์นี้จะคุมเกียร์ไม่ให้เกินเบอร์สาม ซึ่งเป็นเกียร์สูงสุดที่มักใช้ในการขึ้นลงเขา แต่ถ้ารถของเราสามารถปรับเป็นเกียร์ธรรมดาได้ เราก็สามารถปรับเกียร์ขึ้นลงเองตามสถานการณ์ได้เลย

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเกียร์ไหนใช้เมื่อไหร่ วิธีการสังเกตก็ไม่ยาก ถ้าผ่อนเบรคแล้วรถเรายังไหลเร็วเกินไป ก็เหยียบเบรคแล้วสับเกียร์ลงหนึ่งจังหวะ แต่ถ้าความเร็วช้าเกินไป เราก็สามารถขึ้นไปได้หนึ่งจังหวะ แค่นี้เราก็หาเกียร์ที่เหมาะกับสถานการณ์นั้นได้แล้ว แต่ต้องไม่ลืมเบรคนะทุกคน เพราะเกียร์ก็มีสิทธิ์ไหม้ได้เหมือนกัน ซ้ำร้ายถ้าเกียร์ไหม้ขึ้นมา จะเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งกว่าเบรคไหม้ซะอีก เพราะฉะนั้นเราควรแตะเบรคสลับกับปล่อยเกียร์ทดกำลังเครื่อง เพราะเขาสองคนเกิดมาคู่กันในการขับรถลงเขานั่นเอง

แต่ถ้าเหยียบเบรคไหม้ขึ้นมาจะทำยังไงดี คำตอบก็คือ “พักรถ” จ้า ถ้ากลิ่นไหม้เริ่มอบอวล เหยียบคันเบรคแล้วมันจมลงไปกว่าปกติ หรือเราเห็นควันกรุ่นขึ้นมาจากล้อรถแล้ว ถ้ามีไหล่ทางก็ชิดซ้ายจ้า แต่ถ้าเป็นทางคับขัน เช่น ไม่มีไหล่ทางหรืออยู่ใกล้โค้ง หรือมุมอับสายตาที่คนอื่นอาจจะมาชนเราได้ ก็ให้พยายามประคองรถต่อไปจนกว่าจะเจอที่ที่สามารถจอดและลงจากรถได้อย่างปลอดภัย จากนั้นให้ลงรถไปดูแต่ละล้อว่ามีควันขึ้นมากแค่ไหนหรือมีความผิดปกติอะไรที่เห็นได้ชัดหรือไม่ 

ถ้าเบรคไหม้จริงหรือคิดว่าน่าจะใช่ ก็ให้จอดพักไปซัก 20 – 30นาที เพื่อให้ผ้าเบรคเขาเย็นลงด้วยตัวเอง “ห้ามราดน้ำใส่ผ้าเบรค” โดยเด็ดขาด เพราะเบรคมันจะคดตัวแล้วใช้ไม่ได้น้า พอผ้าเบรคเขาเย็นแล้ว แค่นี้เราก็ไปต่อได้แล้วจ้า แต่อย่าลืมใช้เครื่องรถสลับเบรค ไม่งั้นผ้าเบรคจะไหม้อีกนะ

  5  

ลดความเร็วให้เสร็จก่อนเข้าโค้ง

ป้ายตัวเลขที่การทางมักติดไว้ก่อนถึงโค้ง คือความเร็วที่คนสร้างถนนเขาคิดว่าแล้วว่าจะไม่หลุดโค้ง แต่บางครั้งด้วยชนิดและความสามารถของคนขับรถมันอาจจะไม่เป็นไปตามนั้น แต่สำหรับมือใหม่หัดโค้งแบบพวกเรา เราควรอิงตามป้ายไปก่อนเลยจ้า 

โดยลดความเร็วรถให้อยู่ในระดับนั้น “ก่อนถึงโค้ง” เพราะถ้าเราไปลดความเร็วต่อในโค้ง ความเร็วที่สูงไปจะทำให้รถก็จะไม่จับกับโค้งอย่างที่ควร ทำให้เราต้องใช้กำลังในการบังคับพวงมาลัยมากกว่าเดิมแม้ความเร็วจะลดต่อไปก็ตาม เพราะฉะนั้นความเร็วต้องนิ่งก่อนถึงโค้ง เพื่อให้รถสามารถเกาะโค้งได้นั่นเอง

วิธีดูว่าเราเกาะโค้งมั้ยก็คือคนในรถนี่แหละ ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเราโดนดึงให้เอียงตามโค้งแสดงว่ารถเราไม่เกาะโค้งจ้า ยิ่งเราต้องเกร็งสู้กับแรงเหวี่ยงเพื่อนั่งอยู่ที่เดิมเท่าไหร่ นั่นก็คือเราใกล้จะหลุดโค้งมากขึ้นเท่านั้น และต้องเข้าโค้งในความเร็วที่ต่ำกว่านี้ แต่ถ้าเราเข้าโค้งไปจนจบโดยที่นั่งตัวตรงได้สบายๆ ตามปกติ นั่นคือเราเกาะโค้งได้เพอร์เฟก 10 10 10 ไปเลยจ้า

  6  

เมื่อจับโค้งได้จึงเพิ่มความเร็ว

เมื่อเราเข้าโค้งได้โดยไม่เทผู้โดยสารในรถแล้ว เราสามารถเพิ่มความเร็วในโค้งได้เพื่อเพิ่มความเกาะถนนมากขึ้น แต่ที่สำคัญคือเราต้องอยู่ในโค้งแล้วโดยที่ไม่เทคนในรถเท่านั้น

เพราะถ้ารถยังไม่เกาะโค้งแต่เราเพิ่มความเร็ว ความหลุดโค้งก็จะใกล้ความจริงขึ้นมากกว่าเดิม แต่ถ้ารถเราเข้าโค้งได้โดยไม่เทแล้ว การเร่งความเร็วจะส่งแรงลงไปในวงเลี้ยว เป็นเหมือนการกดรถลงไปในแนวถนนตรงๆ ซึ่งเป็นเหมือนการจับรถให้อยู่ในวงเลี้ยวมากขึ้น ทำให้รถนิ่ง สามารถคุมพวงมาลัยได้ง่าย และออกจากโค้งได้อย่างปลอดภัย พร้อมๆ กับทำความเร็วไปด้วยในเวลาเดียวกัน

  7  

โค้งขึ้นอย่าเบรค ให้ผ่อนคันเร่งเพื่อรักษากำลังรถ

ณ จุดนี้ลืมข้อก่อนหน้าไปรึยังเอ่ย นอกจากเราจะต้องเข้าโค้งให้เกาะถนนแล้ว ขาขึ้นเขาเรายังต้องทำความเร็วอีกต่างหาก ใครตื่นตูมเหยียบเบรคจนรถแทบนิ่งเพื่อเข้าโค้งแต่ยังต้องขึ้นเขาอีกไกลล่ะก็ คนขับตามหลังก็คือมองบนไปละจ้า เพราะเขาจะต้องตามหลังรถเราที่จะคลานขึ้นเขาไปเพราะหมดแรงส่งนั้นเอง 

เพราะฉะนั้นวิธีในการเข้าโค้งขาขึ้นคือให้ผ่อนคันเร่งแทนนั่นเอง เพราะแรงโน้มถ่วงและน้ำหนักรถจะดึงความเร็วให้ตกลงมาเอง พอเข้าโค้งได้ไม่เทกระจาดคนในรถแล้ว ก็เร่งเครื่องไปต่อได้เลยจ้า นอกจากรถจะเกาะโค้งแล้ว เครื่องยนต์ก็จะมีแรงเฉื่อยที่ยังเหลืออยู่ช่วยให้มีแรงไต่เขาต่อไปได้นั่นเอง ถ้าความเร็วขึ้นเขามามันสูงมากจริงๆ ก็ควรแตะเบรคนิดๆ เพื่อช่วยลดความเร็วลง แต่พยายามรักษาแรงเฉื่อยเอาไว้เพื่อทุ่นแรงให้รถเราไปต่อได้น้า

  8  

โค้งลงอย่าเร่ง ให้ผ่อนเบรคเพื่อเพิ่มความเร็ว

ในทางกลับกัน แรงโน้มถ่วงที่เคยช่วยดึงเราให้ช้าลงในขาขึ้น จะหันกลับมาดึงหน้ารถเราให้เร็วขึ้นในขาลงแทน แต่เพราะในการขับรถลงเขานั้นคือการควบคุมความเร็วรถด้วยการทดเกียร์สลับไปมากับเบรคอยู่แล้ว 

ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำก็คือเบรคให้รถช้าพอกับที่เราน่าจะเข้าโค้งนั้นได้แล้ว จึงค่อยๆ ปล่อยเบรคเมื่อรถเกาะโค้งนั้นเอง เพราะรถจะเพิ่มความเร็วอยู่แล้วเมื่อเราปล่อยเบรค เราจึงไม่จำเป็นต้องเร่งเครื่องให้รถเกาะถนน แต่ธรรมชาติจะเร่งความเร็วให้เราเอง แถมเพราะความเร็วของรถจะเพิ่มขึ้นช้ากว่าการเร่งคันเร่ง เราจะไม่เปลืองจานผ้าเบรคอีกด้วย

  9  

หากขับคนเดียว/นำแถวตอนกลางคืน
ให้เปิดไฟสูงและปรับลงเมื่อมีรถสวนทาง

ขับรถขึ้นลงเขาว่ายากแล้ว ขับรถทางเดียวกันตอนฟ้ามืดนี่คือแทบจะเป็นคนละเรื่องกันเลย บางคนก็บอกน่ากลัวเพราะมองไม่เห็นอะไรนอกจากถนนข้างหน้า แต่บางคนกลับบอกว่า การไม่เห็นความน่ากลัวของสองข้างทางนี่ละที่ทำให้มันง่าย 

แต่ไม่ว่าทุกคนจะคิดอย่างไร แอดขอบอกตรงนี้เลยว่า “ไฟรถต้องเปิดเสมอ” ยิ่งถ้าไม่มีคนขับนำหน้าเรา ยิ่งควรเปิดไฟสูงยาวๆ ไปเลยจ้า เพราะนอกจากแสงไฟสูงจะทำให้เรามองเห็นทางข้างหน้าแล้ว เวลาเราเจอโค้งที่มองไม่เห็นฝั่งคนสวนทาง แสงไฟหน้ารถของเรานี่แหละ ที่จะสะท้อนกับถนนให้คนที่กำลังสวนทางมารู้ว่าเรากำลังจะถึงโค้งแล้ว 

ส่วนตัวเราเอง ถ้าเห็นรถฝั่งตรงข้ามแล้ว หรือมองเห็นไฟสะท้อนสว่างขึ้นกว่าตอนมีแต่ไฟของเราบนทางโค้ง นั่นคือสัญญาณว่ากำลังจะมีคนสวนมาแล้ว ให้ระวังว่าตนเองอยู่ในเส้นเลนของตัวเองหรือไม่ และปรับไฟลงเป็นไฟปกติ ถ้าคนตรงข้ามไม่ปรับไฟลงหรือเราลืมปรับไฟเราเอง การกระพริบไฟสูงสองถึงสามครั้งติดๆ เป็นภาษาสากลว่าให้ปิดไฟสูงซะ 

นอกจากนี้ไฟเลี้ยวมีส่วนสำคัญในการเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนร่วมทางด้วยนะ ถนนบนเขาส่วนใหญ่มักเป็นถนนไปกลับแค่ฝั่งละเลนเดียว ดังนั้นการแซงกันจึงเป็นเรื่องที่ยากแต่ก็ปกติ ถ้าหากว่าเราขับช้ากว่าคนข้างหลังและต้องการให้เขาผ่านเราไปได้ เมื่อเราเจอช่วงทางตรงที่ระยะน่าจะยาวพอให้แซงและไม่มีรถสวนมา เราควรลดความเร็วและเปิดไฟซ้ายเป็นสัญญาณว่าแซงได้ เพื่อให้คนข้างหลังสามารถเร่งเครื่องผ่านเราได้ไม่หวาดเสียวกัน

นอกจากเราจะไม่มีคนมากดดันข้างหลังเราแล้ว ถ้าคนแซงเป็นคนท้องที่ เขาก็จะสามารถนำทางเราได้เพราะเขาจะรู้ว่าโค้งไหนควรขับเร็วเท่าไหร่หรือควรชะลอรถที่ใด และยิ่งถ้าเราขับตอนกลางคืนล่ะก็ ความชำนาญเส้นทางของคนหน้าจะเป็นโชคดีของเราที่มีตัวอย่างให้ทำตามนั่นเอง