เข้าสู่ยุควัยทำงานที่สามารถ Work From Anywhere ไม่ว่าที่ไหนก็ทำงานได้อย่างสบายใจ ถ้าหากว่าสถานที่หรือบรรยากาศนั้นๆ มีผลถึงสมอง รวมถึงจิตใจของเราให้มีสมาธิมากขึ้น ด้วยเหตุนี้มนุษย์เงินเดือน ฟรีแลนซ์ หรือแม้แต่นักเรียน นักศึกษาที่จับกลุ่มกัน จึงเลือกตัดสินใจที่จะทำงานใน Co-Working Space ที่เป็นเหมือนสถานที่ให้เช่าระดมความคิด อีกทั้งยังเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานให้พวกเขาได้ผ่อนคลาย จนสามารถสัมฤทธิ์งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวของธุรกิจ Coworking Space นั้น เป็นบริการมอบพื้นที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามานั่งใช้บริการหรือนั่งทำงาน ซึ่งลูกค้ามีหลากหลายแบบ บ้างก็ต่างที่ทำงาน บ้างก็กลุ่มเดียวกัน แต่ถึงแม้ไม่รู้จักกัน แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่ในการทำงาน เพราะทุกคนมักให้ความสนใจแค่หน้าที่ของตัวเอง จึงเป็นอีกทางเลือกใหม่สำหรับคนที่ไม่อยากไปนั่งคาเฟ่ แต่ต้องการห้องประชุมขนาดเล็ก โต๊ะทำงานชิวๆ เก้าอี้สบายๆ รวมถึงอินเทอร์เน็ตดีๆ พื้นที่สำหรับรับประทานอาหาร หรือพื้นที่ตามการใช้สอย ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงาน
ด้วยเหตุนี้ Co-Working Space จึงมีความต้องการมากในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าในกรุงเทพเราจะสามารถพบได้ง่าย แต่รู้หรือไม่? ว่าต่างจังหวัดแทบไม่มีเลยนะ แอดคิดว่านี้อาจเป็นจุดสำคัญในการเปลี่ยนอนาคตธุรกิจ CoWorking Space ให้ขยายกว้างขึ้นเพื่อครอบคลุมหลายๆ จังหวัดก็เป็นได้!
ในวันข้างหน้าคุณอาจได้เห็นธุรกิจ Coworking space มากมายมากขึ้น ด้วยเหตุนั้นการเปิดเป็นธุรกิจตัวเองก่อนใคร จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยในการลงทุนสร้าง พวกเรา Lifesara จึงอยากนำข้อควรรู้ดีๆ สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่หรือผู้ที่สนใจ ว่าก่อนทำธุรกิจ Co-Working Spance มีอะไรบ้างนะ? ที่ทำให้เราสามารถเปิดธุรกิจนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งยังเปิดได้ในระยะยาวด้วย ไปดูกันเลยย!!
1
จดทะเบียนนิติบุคคล🏦
ข้อควรรู้ข้อแรกสำหรับการจะทำธุรกิจ Co-working space ก่อนอื่นเราต้องเป็นเจ้าของหรือมีหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จุดประสงค์เพื่อต้องการแบ่งกำไรและความรับผิดชอบจากธุรกิจนั้นร่วมกัน โดยต้องจดทะเบียนนิติบุคคล ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งมีจดทะเบียนทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่
1. คู่มือสำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
2. คู่มือสำหรับบริษัทจำกัด
3. คู่มือสำหรับบริษัทมหาชนจำกัด
📌ถ้าไม่ปฏิบัติ อาจถูกปรับ ตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499
2
จดทะเบียนพาณิชย์ 👭
ข้อควรรู้ข้อที่ 2 หากทำธุรกิจ Co-Working Space โดยเป็นเจ้าของกิจการคนเดียว หรือคณะบุคคล หากเราสามารถขายสินค้าได้ 20 บาทขึ้นไปต่อวัน หรือมีสินค้าไว้เพื่อขายมูลค่ารวม 500 บาทขึ้นไป (ยกเว้นขายเร่ และแผงลอย) เราต้องจดทะเบียนพาณิชย์ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนนะ เช่น สำนักงานเขต เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมี 2 ประเภท ได้แก่
- จดทะเบียนพาณิชย์สำหรับแบบุคคลธรรมดา
- จดทะเบียนพาณิชย์สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญ คณะบุคคลและกิจการร่วมค้า
*สามารถอ่านหลักเกณฑ์ได้ที่นี่เลย
📌 ถ้าไม่ปฏิบัติอาจถูกปรับ ตาม พ.ร.บ. ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499
3
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 💴
ข้อควรรู้ข้อที่ 3 หากทำธุรกิจ Co-working space ที่มีรายรับมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี เราต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่สำนักงานบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา สามารถอ่านหลักเกณฑ์ได้ที่นี่เลย
📌 ถ้าไม่ปฏิบัติ อาจถูกปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
4
ขออนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ 🛒
ข้อควรรู้ข้อที่ 4 หากทำธุรกิจ Co-working space หากมีการนำสิ่งของมาวาง หรือขายของบนฟุตบาท หรือใช้พื้นที่สาธารณะ
อันดับแรกเราต้องขออนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ ซึ่งรวมถึง สถานที่หรือทางซึ่งไม่เกี่ยวกับเอกชนและประชาชนสามารถใช้ประโยชน์หรือใช้สัญจรได้ จากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด
📍หมายเหตุปัจจุบัน กรุงเทพฯ ได้ยกเลิกการอนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่แล้ว แต่มีบางพื้นที่ในต่างจังหวัดยังคงต้องมีการอนุญาตอยู่
📌ถ้าไม่ปฏิบัติ อาจถูกปรับตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535
5
ขออนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายหรือสะสมอาหาร 🍲🍕
ข้อควรรู้ข้อที่ 5 หากทำธุรกิจ Co-working Space มีการขายอาหารหรือเครื่องดื่ม
หากต้องให้มีผู้สัมผัสอาหาร รวมถึงคนเสิร์ฟและคนล้างภาชนะ ต้องเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับผู้สัมผัสอาหาร ซึ่งรวมถึงเชฟ ผู้เตรียมอาหาร ผู้ปรุงอาหาร ผู้จำหน่ายอาหาร ผู้ลำเลียงอาหาร ผู้ขนส่งอาหาร ผู้เก็บล้างภาชนะอุปกรณ์
- หากพื้นที่ร้าน “น้อยกว่า” 200 ตารางเมตร ต้องแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายหรือสะสมอาหาร ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น สำนักงานเขต เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด
- หากพื้นที่ร้านมากกว่า 200 ตารางเมตร ต้องขออนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายหรือสะสมอาหาร ที่ สำนักงานเขต, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด
📌 ถ้าไม่ปฏิบัติอาจถูกปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535
6
ขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 🚨
ข้อควรรู้ข้อที่ 6 หากธุรกิจ Co-Working Space ของเรามีการใช้เครื่องอบขนมปัง เครื่องคั่วกาแฟ หรือแม้แต่ การทำอาหารหรือเครื่องดื่มในปริมาณมากจนอาจรบกวนผู้อื่นๆ เช่น มีเสียงดัง หรือส่งกลิ่นเหม็นที่รุนแรง ซึ่งเป็นการรบกวน
รวมถึงการผลิต สะสม หรือแบ่งบรรจุต่างๆ เราจะต้องไปขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ที่สำนักงานเขต สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร และสำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด สามารถติดต่อได้ที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนนะ!
📌 ถ้าไม่ปฏิบัติอาจถูกปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535
7
ขออนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย⚠️
ข้อควรรู้ข้อสุดท้าย สำหรับคนทำธุรกิจ Co-working Space ถ้าธุรกิจเรามีการครอบครองหรือจำเป็นต้องใช้ก๊าซหุงต้ม
- หากมีก๊าซหุงต้มน้อยกว่า 1,000 กก. (ประมาณ 20 ถังใหญ่) ต้องแจ้งครอบครองวัตถุอันตรายที่ ศูนย์บริการธุรกิจพลังงาน สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ หรือ สำนักงานพลังงานจังหวัด สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด
- หากมีก๊าซหุงต้มมากกว่า 1,000 กก. ประมาณ 20 ถังใหญ่ ต้องขออนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายที่ ศูนย์บริการธุรกิจพลังงาน สำหรับพื้นที่กรุงเทพ หรือ สำนักงานพลังงานจังหวัด สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด
📌 ถ้าไม่ปฎิบัติ อาจถูกปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับตาม พ.ร.บ. ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542