นักปรัชญามีความหมายตรงตัวว่า “ผู้รักในความรู้” 📚 แนวคิดที่เราใช้ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็มาจากพวกเขาเหล่านี้แหละ นักปรัชญาเป็นผู้ตั้งคำถามกับความเป็นจริงและค้นหาความหมายของชีวิต ซึ่งแต่ละคนมีคำตอบที่แตกต่างกันไปและบางคนก็มีแนวคิดที่ค่อนข้างจะสุดโต่งแต่น่าสนใจมากก

วันนี้พวกเรา LifeSara เลยอยากมาแนะนำ 5 นักปรัชญายุโรปโบราณ ที่แนวคิดของพวกเขาเคยเปลี่ยนโลกกันมาแล้ว! ซึ่งแม้ว่าโพสต์นี้อาจจะดูเป็นแนวจริงจังกว่าโพสต์ปกตินิดหน่อย แต่รับรองว่าเพื่อนๆ ต้องอ่านเพลินกันแน่นอนนน พูดอย่างงี้แล้ว ก็ไปดูกันเลยว่า เราจะพูดถึงนักปรัชญาคนไหนบ้าง และคำสอนของพวกเขาจะเป็นแบบไหน✨!

 1  

โสเครตีส

โสเครตีสเป็นนักปรัชญาชาวยุโรปคนแรกเมื่อ 2,400 ปีก่อนที่เมืองเอเธนส์มองจากภายนอกแล้วโสเครตีสอาจจะเหมือนคนเร่ร่อนธรรมดา แต่จริงๆ เขาเป็นคนมีแนวคิดที่แตกต่างจากคนทั่วไปสมัยนั้นมาก

ตัวของโสเครตีสเอง ไม่ค่อยจะบันทึกอะไรที่เป็นลายลักษณ์อักษรนัก ผลงานของโสเครตีสที่เราอ่านกันส่วนใหญ่ทุกวันนี้ มาจากการบอกเล่าของศิษย์เอก “เพลโต” โดยแนวคิดของโสเครตีสคือการตั้งคำถาม และไม่ใช่การคำถามธรรมดาด้วยนะ แต่เป็นการตั้งคำถามเพื่อให้ผู้ตอบคิดอย่างหนัก 🤔

เช่น วันหนึ่งเขาถามชายคนหนึ่งว่า “การไม่ซื่อสัตย์ผิดศีลธรรมหรือไม่” ชายคนนั้นก็เลยตอบว่า “ใช่มันผิดศีลธรรม” โสเครตีสเลยถามต่อว่า “ถ้าเพื่อนของท่านกำลังรู้สึกท้อแท้อยู่ล่ะ การโกหกเพื่อให้เขารู้สึกดีขึ้นมันเป็นเรื่องผิดศีลธรรมด้วยใช่ไหม” คนๆ นั้นสตั้นไปพักนึง และตอบว่า “ไม่” นี่คือตัวอย่างของคำถามที่โสเครตีสมักจะถามชาวบ้านเมืองเอเธนส์อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีทั้งคนที่รักเขาและไม่ชอบขี้หน้าเขาจำนวนพอๆ กัน 

โสเครตีสเชื่อว่าสิ่งเดียวที่แยกระหว่างคนกับสัตว์ได้คือการที่คนมีความคิดเป็นของตัวเองและพร้อมจะแลกเปลี่ยนแนวคิดกันเสมอเขาเชื่อว่าจริงๆแล้วมนุษย์นั้นไม่รู้อะไรเลยและนั่นรวมถึงตัวเขาเองด้วย

ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่ขอเชื่ออะไรแบบ 100% และเลือกที่จะตั้งคำถามกับทุกสิ่ง และเมื่อตอนที่เขามีอายุได้ 70 โสเครตีสได้ตายจากการถูกจับประหาร โดยในวาระสุดท้าย เขาไม่ได้ร้องขอชีวิต แต่กลับพูดเล่นแง่กับพวกทหารทำให้ผู้คนยิ่งฉุนเฉียวกันไปใหญ่ 🤣

 2  

เพลโต

เพลโตเป็นลูกศิษย์ของโสเครตีส ภาพลักษณ์ของเขาจะเป็นภาพที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเวลาพูดเกี่ยวกับนักปรัชญา เพลโตเป็นคนที่วางตัวดีและเวลาคิดอะไรก็จะจดไว้ จึงทำให้เขาได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม เขามีอำนาจในการปกครองพอๆ กับนักการเมืองในสมัยนั้น

เพลโตมีแนวคิดที่ชัดเจนซึ่งแตกต่างจากโสเครตีสอย่างสิ้นเชิง เขาเชื่อว่านักปรัชญามีความรู้และสติปัญญามากกว่าคนทั่วไป และได้ให้เหตุผลว่าโลกที่คนธรรมดาทั่วไปเห็นนั้น เปรียบเสมือนแค่เงาที่ถูกสะท้อนออกมาจากกองไฟในถ้ำมืด

ที่เขาพยายามจะสื่อคือ คนทั่วไปไม่สามารถเห็นโลกที่แท้จริงได้ สิ่งที่มนุษย์เห็นอยู่ เป็นเพียงแค่โลกเบื้องหน้าที่เป็นรูปธรรม แต่มีแค่นักปรัชญาที่จะสามารถรู้ว่าของเหล่านั้นเป็นเพียงของมายา เพราะพวกเขาสามารถครุ่นคิดอย่างลึกซึ้ง ซึ่งหากนำมาเทียบกับสมัยนี้ก็คือการมองโลกแบบเป็นนามธรรมนั่นเอง

เพลโตได้ตีแผ่ความคิดสุดโต่งนี้ใน The Republic โดยในหนังสือได้กล่าวไว้ว่านักปรัชญาควรจะมีอำนาจในการปกครองแบบเด็ดขาดเพราะพวกเขาสามารถครุ่นคิดเห็นถึงความจริงได้รองลงไปก็จะเป็นทหารที่ปกป้องประเทศและดูแลประชาชนและชั้นต่ำสุดคือกลุ่มกรรมกร

แนวคิดแบบนี้แตกต่างจากประชาธิปไตยสมัยนี้เป็นอย่างยิ่ง ไม่แน่คนบางคนแถวนี้อาจจะอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วอินไปหน่อยก็ได้ 😏

 3  

อริสโตเติล

ถึงแม้ว่าอริสโตเติลจะเป็นศิษย์ของเพลโตและเพลโตจะเป็นศิษย์ของโสเครตีส แต่แนวคิดของทั้ง 3 คนนี้ไม่ได้มีความใกล้เคียงกันเลย

แนวคิดของอริสโตเติลนั้นมีความเป็นรูปธรรมมากกว่าจะเป็นนามธรรม โดยอริสโตเติลต้องการสำรวจความจริงที่เราสามารถสัมผัสได้ด้วยประสาท เขากล่าวว่าถ้าอยากจะรู้อะไรแบบลึกซึ้งก็ต้องไปลองทำเองก่อน

อริสโตเติลใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ และชอบเรียนรู้ ตัวเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่นักปรัชญาเท่านั้น เขายังมีความสนใจในศาสตร์ต่างๆ เช่น ดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมืองและการละคร อริสโตเติลเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีคนนับถือเยอะมากที่สุดในสมัยนั้น และเพราะชื่อเสียงนี้เอง จึงทำให้นักปรัชญาทุกคนพร้อมที่จะเชื่อในสิ่งที่อริสโตเติลพูดเสมอไม่ว่าเขาจะพูดอะไรก็ตาม

อริสโตเติลมีแนวคิดที่ค่อนข้างน่าสนใจ อย่างเช่น ประโยคที่ว่า “นกนางแอ่นเพียงหนึ่งตัวไม่ทำให้เกิดฤดูร้อนได้” ประโยคนี้ต้องการจะสื่อว่า เราต้องเห็นนกนางแอ่นมากกว่า 1 ตัวและเจอวันที่มีอากาศร้อนมากกว่า 1 วัน ถึงจะรู้ว่าเป็นฤดูร้อนได้ เช่นเดียวกับความสุข การที่เราดีใจ, จัดปาร์ตี้สังสรรค์ หรือรู้สึกสนุกเพียงชั่วครู่ ไม่ได้หมายความว่าเรานั้นกำลังมีความสุขที่แท้จริงอยู่

ยูไดโมเนียคือคำที่อริสโตเติลใช้เรียก “ความสุข” ในแบบอุดมคติของเขา การที่คนเราจะมีสิ่งนั้นได้ เราต้องรู้จักใช้ชีวิตให้เป็นและรู้จักความพอดี อริสโตเติลต้องการให้ผู้คนใช้ชีวิตแบบมีคุณธรรมและทำในสิ่งที่ถูกต้อง เขาต้องการให้ผู้คนตั้งเป้าหมายของชีวิตและพยายามทำมันให้สำเร็จ โดยที่ไม่ต้องมานอนเสียใจและเสียดายเวลาเมื่อตนเองนั้นใกล้ตายแล้ว 😌

 4  

เอพิคิวรัส

เพื่อนๆ เคยคิดถึงชีวิตหลังความตายของตัวเองไหม? ตายแล้วจะไปไหน? นรกหรือสวรรค์มีจริงหรือเปล่า? คำถามเหล่านี้คนสมัยก่อนเขาก็เคยคิดเหมือนกับเรา มีหลายคนเก็บเรื่องนั้นไปคิดจนถึงขั้นทำมาหากินไม่ได้ เมื่อนักปราชญ์คนนึงนามเอพิคิวรัสเห็นเช่นนี้ เขาจึงเสนอแนวคิดของตนเองขึ้นมา

เอพิคิวรัสกล่าวว่า ตอนที่เกิดมาเป็นเด็กทารก เราจำตอนที่อยู่ในท้องแม่ไม่ได้ เราจำชีวิตของเราเมื่อชาติก่อนก็ไม่ได้ หรือแม้กระทั่งเวลานับล้านๆ ปีบนโลกก่อนที่เราจะเกิด เวลานั้นเราก็จำไม่ได้อีกเช่นกัน งั้นเพราะอะไรเราถึงต้องกลัวความตายล่ะ?

เราไม่ได้สัมผัสมันอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับเวลาของทุกสรรพสิ่งแล้ว เวลาที่เรามีชีวิตนั้นมันสั้นมาก เพราะฉะนั้นเราไม่ควรมานั่งเสียเวลาคิดอะไรแบบนี้ เอพิคิวรัสสรุปปรัชญาทั้งชีวิตของตนแบบสั้นๆ ไว้บนจารึกหลุมศพของตัวเองว่า “ก่อนนั้นไม่มีข้า จากนั้นข้ามีชีวิต บัดนี้ไม่มีข้า ข้าไม่ถือสาใดๆ”

เอพิคิวรัสเชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า แต่ไม่เชื่อในการมีอยู่ของนรก เขาคิดว่าเมื่อพระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาแล้ว ท่านจะไม่เข้ามายุ่งย่ามกับเราอีก ซึ่งความคิดนี้แตกต่างกับศาสนาคริสต์ในสมัยนี้อย่างมาก

นอกจากนี้เอพิคิวรัสยังมีสำนักของตัวเองที่ชื่อว่า The Garden โดยเขาจะสอนให้ศิษย์ของเขาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย กินอยู่อย่างประหยัด และไม่หวังอะไรที่มันเกินเอื้อม ถ้าเราหวังอะไรที่พอเอื้อมถึงได้ เราก็จะมีโอกาสสำเร็จเยอะกว่า ทำให้เรามีพละกำลังในการไปต่อได้เรื่อยๆ นั่นเอง

ความสุขที่แท้จริงของในมุมมองของเอพิคิวรัส คือการหลีกเลี่ยงความทุกข์และเพิ่มพูนความสุข คำสอนของเอพิคิวรัสอาจจะดูเรียบง่ายเมื่อเทียบกับนักปรัชญาคนอื่น เพราะว่าเขาต้องการให้ปรัชญาของเขานั้น ใช้ได้ในชีวิตจริงแทนที่จะได้แค่นั่งท่องจำเฉยๆ ด้วยความที่เอพิคิวรัสเป็นคนที่เข้าถึงง่าย ทำให้เขามีศิษย์เป็นจำนวนมากทั้งหญิงชาย หรือทั้งคนรวยคนจน 🥰

 5

ไพโร

จริงอยู่ที่ปรัชญาคือการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบของชีวิต แต่ถ้าปรัชญาของชายคนหนึ่งคือการตั้งคำถามเพื่อที่จะให้ตั้งคำถามและไม่ให้คำตอบล่ะ? พูดแบบนี้คงงงใช่ไหม ถ้าอยากเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าเราพูดถึงอะไรอยู่ เพื่อนๆ ต้องรู้จักชายที่ชื่อไพโรก่อน

ไพโรเป็นนักปรัชญาที่ “ไ ม่ เ ชื่ อ“ ในอะไรเลย ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าวันหนึ่งเราเป็นคนสนิทไพโรแล้วไปเดินป่ากับเขา อยู่ดีๆ เขาก็กระโดดเข้าไปในบ่อจระเข้ ดีที่เราคว้าไว้ทัน เราเลยถามไปว่าโดดไปทำไมเดี๋ยวก็โดนจระเข้กัดหรอก เขาก็จะสวนมาว่ารู้ได้ยังไงว่าจระเข้จะกัดโดยทำหน้าแบบสงสัยในตัวเรา

และนั่นคือปรัชญาของเขา ถึงแม้ว่าทุกคนบนโลกจะรู้ว่าจระเข้นั้นอันตราย แต่เขาก็จะไม่ยอมเชื่อจนกว่าเขาจะได้พิสูจน์เอง การกระทำเช่นนี้อันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้าไพโรไม่มีเพื่อนอยู่ด้วย

แนวคิดที่ไพโรใช้อยู่นี้ เราเรียกมันว่าวิมุตินิยม และแน่นอนว่านักวิมุตินิยมไม่ได้บ้าบิ่นเท่าไพโรทุกคน เพราะจริงๆ แล้ว ความหมายของวิมุตินิยมคือ แนวคิดที่ตั้งคำถามกับทุกสิ่ง และไม่ตัดสินอะไรก่อนที่เราจะหาคำตอบเองได้ การคิดเช่นนี้ทำให้พวกเขาลด Ego และไม่ใช้ดุลพินิจของตนเองมาตัดสินอะไรซึ่งการทำเช่นนี้ทำให้บางคนอาจจะมองว่าพวกเขาเป็นคนที่ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง

“คุณไม่สามารถรู้อะไรได้เลย” คือคำสรุปปรัชญาของไพโรแบบสั้นๆ จะว่าไป แอดก็พูดไม่ได้เต็มปากหรอกว่า แนวคิดนี้เป็นแนวคิดตะวันตก 100% เพราะจริงๆ แล้วแนวคิดของไพโรได้แรงบันดาลใจมาจากตอนที่เขาไปอยู่อินเดีย บางทฤษฎียังบอกอีกว่า บางทีแนวคิดนี้อาจจะต่อยอดมาจากแนวคิดของศาสนาพุทธของเราก็เป็นได้ 🤔